รู้จัก เศรษฐกิจของ “โมร็อกโก” ม้ามืดประจำ ฟุตบอลโลกปีนี้

รู้จัก เศรษฐกิจของ “โมร็อกโก” ม้ามืดประจำ ฟุตบอลโลกปีนี้

14 ธ.ค. 2022
ในตอนนี้ ประเทศโมร็อกโกกำลังกลายเป็นที่พูดถึง จากการเป็นทีมม้ามืด ที่ทะลุเข้ารอบรองชนะเลิศได้ ด้วยการล้มชาติมหาอำนาจของโลกฟุตบอล อย่างเช่น สเปน และโปรตุเกสได้
แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากเรื่องของฟุตบอลแล้ว เศรษฐกิจของประเทศโมร็อกโก ยังมีเรื่องน่าสนใจ ที่เราเองก็คาดไม่ถึงเช่นเดียวกัน เพราะโมร็อกโกนั้น เป็นผู้ส่งออกปุ๋ยอันดับ 4 ของโลกเลยทีเดียว
และถ้าหากคุณสงสัยว่า ในด้านเศรษฐกิจแล้ว โมร็อกโกมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง นอกจากนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
ประเทศโมร็อกโก เคยเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองในอดีต จากการที่มีดินแดนตั้งอยู่ระหว่าง ทวีปยุโรปและแอฟริกา ส่งผลให้ประเทศโมร็อกโก กลายเป็นประตูแห่งการค้าขายกับทวีปแอฟริกาของชาวยุโรป
จนกระทั่งปี 1860 โมร็อกโกได้แพ้สงครามให้กับสเปน จึงต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้กับสเปน เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้รัฐบาลโมร็อกโก ต้องกู้เงินจากประเทศในยุโรป อย่างอังกฤษ และฝรั่งเศส
ซึ่งประเทศที่โมร็อกโกกู้เงินมากที่สุด ก็คือฝรั่งเศส ส่งผลให้ฝรั่งเศส มีอำนาจในโมร็อกโกมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถประกาศให้โมร็อกโก กลายเป็นรัฐในอารักขา เมื่อปี 1912
โมร็อกโกตกเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศสอยู่นานถึง 40 กว่าปี ก่อนจะได้รับเอกราชในปี 1956 ซึ่งหลังจากนั้น เศรษฐกิจของโมร็อกโก ก็ได้ยืนหยัดอยู่ด้วย 3 ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ดังนี้
อุตสาหกรรมปุ๋ย
การที่โมร็อกโก สามารถกลายเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลกได้นั้น ก็เนื่องมาจากการที่ใต้ผืนดินของประเทศโมร็อกโก อุดมไปด้วยแร่ฟอสเฟต ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญของปุ๋ย
โดยจำนวนของแร่ฟอสเฟตที่ประเทศโมร็อกโกมีนั้น คิดเป็นอัตราส่วนมากถึง 70% ของจำนวนแร่ฟอสเฟตทั่วโลก
ทำให้โมร็อกโก สามารถผลิตและส่งออกปุ๋ยได้เป็นจำนวนมาก โดยมูลค่าปุ๋ยที่ส่งออกในปี 2021 นั้น มากถึง 198 ล้านบาท เลยทีเดียว
นอกจากนี้แร่ฟอสเฟตที่อยู่ใต้ผืนดิน ได้ส่งผลให้การเกษตรของโมร็อกโก มีความอุดมสมบูรณ์ จนประเทศโมร็อกโก มีความมั่นคงทางอาหารมากที่สุด ในทวีปแอฟริกา
สะท้อนจากการที่ แม้โมร็อกโกจะมีพื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกได้ คิดเป็นเพียงแค่ประมาณ 17% ของพื้นที่ทั้งประเทศเท่านั้น แต่ผลผลิตทางการเกษตรของโมร็อกโก กลับครอบคลุมถึง 67% ของความต้องการในประเทศ
การค้าและบริการทางการเงิน
ในด้านการค้านั้น โมร็อกโก ค่อนข้างพึ่งพาภาคต่างประเทศเป็นอย่างมาก สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่าการค้าต่อ GDP ที่สูงถึงเกือบ 84% ของ GDP
ประเทศโมร็อกโก จึงมีท่าเรือ แทงเกอร์ เม็ด ซึ่งถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา ไว้สำหรับรองรับการขนส่งสินค้าจำนวนมหาศาล โดยท่าเรือแห่งนี้สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 9 ล้านตู้
ส่วนในด้านการลงทุนนั้น ในช่วงปี 2010 ทางรัฐบาลโมร็อกโก ได้ผลักดันโครงการ Casablanca Finance City เพื่อพัฒนา เมืองคาซาบลังกา ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของแอฟริกา
ซึ่งโครงการนี้ถูกสร้างขึ้น เพื่อรองรับเงินทุนจากนักลงทุนยุโรป ที่ต้องการลงทุนในแอฟริกา แต่ว่าไม่มีความคุ้นเคยกับภูมิภาคแถบนี้ ก็สามารถใช้สถาบันการเงินในโมร็อกโก เป็นตัวกลางการลงทุนในแอฟริกาได้
โดยเมืองคาซาบลังกา ได้ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินอันดับ 1 ของแอฟริกา แทนที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ของประเทศแอฟริกาใต้ มาตั้งแต่ปี 2016 อีกด้วย
เงินโอนกลับบ้าน จากแรงงานในต่างประเทศ
รู้หรือไม่ว่า นักฟุตบอลชาวโมร็อกโก ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ กว่าครึ่งหนึ่งเกิดนอกแผ่นดินประเทศโมร็อกโก
เนื่องจากในสมัยที่โมร็อกโก เป็นรัฐอารักขาของประเทศฝรั่งเศส ชาวโมร็อกโก มักจะถูกนำไปเป็นแรงงานราคาถูก ในประเทศฝรั่งเศส และยังขยายไปสู่ประเทศใกล้เคียง อย่างเช่น เบลเยียม อีกด้วย
นั่นจึงทำให้ชาวโมร็อกโก มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ในยุโรป เป็นจำนวนมาก โดยในปัจจุบันนี้ ชุมชนชาวโมร็อกโกในยุโรป ยังได้ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ อย่าง สเปน, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี อีกด้วย
เงินที่แรงงานชาวโมร็อกโกในต่างประเทศเหล่านี้ ทำการโอนกลับมาให้ที่บ้าน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยค้ำจุน เศรษฐกิจของประเทศโมร็อกโก
โดยในปี 2021 แรงงานชาวโมร็อกโก ได้ทำการส่งเงินกลับบ้านมากถึง 346,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ของ GDP เลยทีเดียว
จากทั้งหมดนี้เอง ก็ได้แสดงให้เห็นว่า ที่จริงแล้วเศรษฐกิจของโมร็อกโก มีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าที่เราคิด เพราะนอกจากจะเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ของโลกแล้ว
โมร็อกโก ยังพยายามที่จะพัฒนาตัวเอง ให้กลับมาเป็นประตูสู่การค้า และการลงทุนของแอฟริกา เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตอีกด้วย
ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในอนาคต โมร็อกโก อาจจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศ ที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่น่าจับตามอง อย่างในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ ก็เป็นได้..
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.