ประเทศไทย เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตดี อันดับที่ 55 ของโลก

ประเทศไทย เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตดี อันดับที่ 55 ของโลก

8 ธ.ค. 2022
การได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ แต่บางทีก็ดูเหมือนจะยาก จนทำให้หลายคนตัดสินใจย้ายไปอยู่ต่างประเทศ เพราะคิดว่า แม้อยู่ประเทศไทยต่อไป ก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาส ที่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมไหม
แล้วประเทศไทย เอื้อต่อการ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มากน้อยแค่ไหน
BillionMoney จะอธิบายให้ฟัง
การอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้ขยับฐานะทางสังคม เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมาอย่างยาวนาน
แต่ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น ส่งผลต่อโอกาสที่แตกต่างกันในแต่ละชนชั้น
ซึ่งช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่กว้างมากขึ้น ทำให้การขยับฐานะทางสังคม เป็นเรื่องยากเช่นกัน
แล้วประเทศไทย เอื้อต่อการขยับฐานะทางสังคมมากน้อยแค่ไหน ?
จากรายงานดัชนีชี้วัดการขยับฐานะทางสังคม ที่จะดูองค์ประกอบของแต่ละประเทศว่า เอื้อต่อการที่รุ่นลูก จะมีโอกาสได้สัมผัสกับชีวิตที่ดีกว่ารุ่นพ่อแม่ ได้มากน้อยแค่ไหน
ซึ่งนอกจากเรื่องของรายได้แล้ว ยังดูไปถึงเรื่องของการศึกษา สุขภาพ การเข้าถึงเทคโนโลยี โอกาสในการทำงาน และอีกหลายด้านที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต
ทั้งนี้ พบว่าประเทศไทยมีดัชนีชี้วัดการขยับฐานะทางสังคมอยู่ในอันดับที่ 55 จากทั้งหมด 82 ประเทศ โดยเป็นอันดับที่ 9 ของเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
และถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านแล้ว เรายังเป็นรอง
สิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 20
มาเลเซีย อยู่ในอันดับที่ 43
เวียดนาม อยู่ในอันดับที่ 50
แต่ยังถือว่าทำได้ดีกว่าอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
โดยประเทศไทยทำคะแนนได้ดี ในส่วนของโอกาสในการทำงาน อันเนื่องมาจากอัตราการว่างงานที่ค่อนข้างต่ำ ในทุกระดับการศึกษาสูงสุดของแรงงาน เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศ
และยังทำได้ดีในส่วนของการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งก็สังเกตได้จาก การที่คนไทยสามารถเข้าถึงไฟฟ้า และอินเทอร์เน็ตมือถือกันได้เป็นส่วนใหญ่ในประเทศ
แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายด้าน ที่ไทยยังทำได้ไม่ดีเท่าไรนัก โดยเฉพาะด้านคุณภาพ และความเท่าเทียมของการศึกษา ที่ได้คะแนนต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ มาก แม้จะเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเองก็ตาม
ทั้งนี้เป็นผลมาจาก จำนวนนักเรียนต่อครูในระดับมัธยมศึกษาที่สูงกว่าประเทศอื่น
ถึงแม้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะมีการกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้อง ในระดับมัธยมศึกษาไว้ที่ไม่เกิน 40 คนต่อห้อง
แต่ตัวเลขนี้ก็ยังเป็นตัวเลขที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ในหลาย ๆ ประเทศ
และนอกจากนี้ ยังมีในส่วนของการคุ้มครองทางสังคม ที่ประเทศไทยก็ได้คะแนนต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ มาก ซึ่งเป็นเพราะเรามีการใช้งบประมาณ ในด้านการคุ้มครองทางสังคม เป็นสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับ GDP
โดยถ้าให้ยกตัวอย่างของการคุ้มครองทางสังคมแบบง่าย ๆ ก็คือ ระบบประกันสังคม ระบบประกันสุขภาพ ระบบบำนาญ รวมไปถึงเงินสวัสดิการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ต่าง ๆ
อีกหนึ่งด้านที่ไทยอาจจะยังทำได้ไม่ดีนักคือ ด้านสุขภาพ ที่อยู่ในอันดับที่ 58 โดยมาจาก 2 สาเหตุ
สาเหตุแรกคือ เรามีเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือมากกว่าเกณฑ์ เป็นอัตราส่วนที่สูง หรือก็คือปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กนั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ หรือได้รับสารอาหารมากเกินไป จนเกิดภาวะอ้วน
และอีกหนึ่งสาเหตุคือ การมีอัตราการเกิดที่สูง ในกลุ่มเด็กผู้หญิงอายุ 15-19 ปี หรือที่เรามักเรียกกันว่า ท้องในวัยเรียน
ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ นำไปสู่ปัญหาอื่นอีกหลายด้าน และเด็กที่เกิดมาก็อาจไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี รวมถึงโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่กว่าเด็กคนอื่น ๆ
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าประเทศไทย มีทั้งปัจจัยที่ทำได้ดีแล้ว และปัจจัยที่ยังทำได้ไม่ดีพอ
ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่เราพูดถึงกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาด้านระบบสวัสดิการ และปัญหาด้านสุขภาพ
โดยถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ประเทศของเราก็จะเอื้อต่อการขยับฐานะทางสังคมมากขึ้น
ซึ่งหมายความว่า เราทุกคนก็มีโอกาสที่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเช่นกัน..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.