
“บุรุนดี” ประเทศที่ คนมีรายได้เฉลี่ย เดือนละ 700 บาท
23 พ.ย. 2022
หากลองนึกภาพว่า เราต้องเอาตัวรอดด้วยเงินเดือนเพียงแค่ 700 กว่าบาท หลาย ๆ คนคงจะนึกไม่ออกว่า เราจะอยู่ได้อย่างไร ด้วยเงินจำนวนน้อยนิดขนาดนั้น
แต่นี่คือสิ่งที่ชาวบุรุนดี ประชาชนในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก กำลังเผชิญอยู่ เพราะในปี 2021 พวกเขาถูกจัดให้เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ด้วยรายได้ต่อหัวเพียงแค่ 8,700 บาทต่อปี เท่านั้น
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าทำไมประเทศบุรุนดี ถึงได้กลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกแบบนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
บุรุนดี เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันออก มีพรมแดนติดกับประเทศรวันดา, แทนซาเนีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ประเทศบุรุนดีนั้น ไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่มีแหล่งน้ำใกล้ ๆ คือ ทะเลสาบแทนกันยีกา ซึ่งประชาชนชาวบุรุนดี ได้อาศัยทะเลสาบแห่งนี้ทำประมง พร้อมกับนำน้ำมาใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค
แต่เดิมบุรุนดี เป็นอาณาจักรที่ประกอบไปด้วย 2 ชนเผ่าหลัก คือ เผ่าฮูตู ที่เก่งในเรื่องทำการเกษตร และเผ่าทุตซี ซึ่งเก่งในเรื่องเพาะเลี้ยงปศุสัตว์ ทำให้ชาวเผ่าทุตซี ค่อนข้างมีฐานะดีกว่าชาวเผ่าฮูตู
จนกระทั่งนักสำรวจชาวอังกฤษ ได้พบกับอาณาจักรบุรุนดีเข้า ในปี 1858 ทำให้หลังจากนั้น ชาติยุโรปก็เริ่มเข้ามาสำรวจในบริเวณนี้ จนในที่สุดบุรุนดี ก็ตกเป็นอาณานิคมของเยอรมนี ก่อนจะเปลี่ยนมือไปให้เบลเยียม หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1
ซึ่งการตกเป็นอาณานิคมนี้เอง ได้ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างชนเผ่า เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมมาก เพราะชาวยุโรป มักจะแต่งตั้งชาวทุตซีที่เป็นคนส่วนน้อย ให้ทำงานในตำแหน่งดี ๆ ในขณะที่ชาวฮูตูซึ่งเป็นคนส่วนมาก กลับได้ทำงานใช้แรงงาน
ทำให้หลังได้รับเอกราชจากเบลเยียม ในปี 1962 ก็ได้มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างชนเผ่าอยู่เรื่อย ๆ จนระเบิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้น ในช่วงปี 1993
ความขัดแย้งในครั้งนี้ จบลงในปี 2005 ด้วยการที่นาย Pierre Nkurunziza นักการเมืองลูกครึ่งฮูตู-ทุตซี ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และเขาก็เดินหน้าเจรจาหยุดยิง กับกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ได้สำเร็จ
แต่เมื่ออยู่ในอำนาจนานเข้า เขาก็เริ่มทำการคอร์รัปชัน พร้อมทั้งพยายามต่ออายุ ตำแหน่งประธานาธิบดีของตัวเอง จนทำให้ประชาชนไม่พอใจ และเกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นอีกในปี 2015 แต่เขาก็ยังทนอยู่ต่อไป จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2020
ซึ่งปัญหาที่ทำให้ประเทศบุรุนดี กลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก มาอย่างยาวนาน ก็มาจาก 3 สาเหตุหลัก ๆ คือ
1.ขาดการลงทุนจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
1.ขาดการลงทุนจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ความขัดแย้งที่บุรุนดีต้องเผชิญอยู่บ่อยครั้ง ได้ทำร้ายเศรษฐกิจของบุรุนดีเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ประเทศเล็ก ๆ อย่างบุรุนดี ที่ปกติแล้วจำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ ไม่สามารถเติบโตได้
เพราะไม่มีนักลงทุนที่ไหน อยากจะลงทุน ในประเทศที่ต้องเผชิญกับสงครามอยู่บ่อย ๆ แบบนี้ อีกทั้งรัฐบาลบุรุนดี ยังแทรกแซงบริษัทเอกชนในประเทศอยู่บ่อย ๆ ด้วย ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศ ก็ไม่อยากลงทุนเช่นกัน
2.ประชากรล้นเกิน
2.ประชากรล้นเกิน
จำนวนประชากรของบุรุนดี มีมากถึง 12.8 ล้านคน แต่พื้นที่ของบุรุนดีนั้น ใหญ่กว่าจังหวัดนครราชสีมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผู้คนจึงต้องแย่งพื้นที่ในการทำเกษตร และอยู่อาศัย
การที่เกษตรกรไม่สามารถขยายพื้นที่ สำหรับทำการเกษตรได้ ก็ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องปลูกพืช ในที่ดินเดิมซ้ำ ๆ จนทำให้สภาพดินเสื่อม และส่งผลให้ผลผลิตน้อยลง
ประเทศบุรุนดี จึงไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการของประชากร ทำให้ต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ แต่การที่ประเทศบุรุนดี ไม่มีทางออกสู่ทะเล ก็ทำให้อาหารที่นำเข้ามา แพงยิ่งขึ้นไปอีก จากต้นทุนการขนส่ง
3.ประสบกับภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง
3.ประสบกับภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง
จากการที่ผืนดินในบุรุนดี ถูกใช้ในการทำการเกษตรอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้เมื่อใดที่ฝนตกหนัก ผืนดินเหล่านั้นก็จะพังทลาย และกลายเป็นโคลนถล่ม ซึ่งสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน และที่ดินการเกษตร
นอกจากนี้ จากสถิติของ World Bank ได้แสดงให้เห็นว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในบุรุนดีเกินกว่าครึ่ง คือภัยแล้ง
ซึ่งก็จะไปซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนอาหารของบุรุนดี
ให้รุนแรงขึ้นไปอีก
ซึ่งก็จะไปซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนอาหารของบุรุนดี
ให้รุนแรงขึ้นไปอีก
ด้วยความที่ประเทศบุรุนดี ต้องเจอกับปัญหาการขาดแคลนอาหาร จากจำนวนประชากรที่ล้นเกิน และภัยธรรมชาติที่รุนแรง พร้อมกับไม่สามารถพัฒนาประเทศ ไปสู่เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากไม่มีการลงทุนที่เพียงพอแบบนี้
ก็ได้ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของบุรุนดี ในช่วง 10 ปีย้อนหลัง เติบโตเพียงแค่ปีละ 2.6% เท่านั้น อีกทั้งในปีนี้ บุรุนดียังต้องประสบกับปัญหาเงินเฟ้อ ที่เฉลี่ยแล้วสูงถึง 16.7% อีกด้วย เพราะต้นทุนการนำเข้าอาหารเพิ่มขึ้น จากน้ำมันที่มีราคาแพง
ด้วยปัญหาเหล่านี้ ที่ปัจจุบันก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ก็ทำให้ทุกวันนี้ รายได้หลักของประเทศบุรุนดี คือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ สะท้อนจากอัตราส่วนเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศต่อ GDP ที่มากถึง 17%
ซึ่งถ้าหากสถานการณ์ของประเทศบุรุนดี ยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป ก็ไม่แน่ใจว่าอีกนานแค่ไหน ประเทศบุรุนดี ถึงจะหลุดพ้นจากสถานะ ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกได้..
References
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.CD?locations=BI&most_recent_value_desc=true
-https://www.britannica.com/place/Burundi#ref40651
-https://www.britannica.com/biography/Pierre-Nkurunziza
-https://borgenproject.org/why-is-burundi-poor/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Geography_of_Burundi
-https://climateknowledgeportal.worldbank.org/country/burundi/vulnerability
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.CD?locations=BI&most_recent_value_desc=true
-https://tradingeconomics.com/burundi/inflation-cpi
-https://data.worldbank.org/indicator/DT.ODA.ODAT.CD?locations=BI
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.CD?locations=BI&most_recent_value_desc=true
-https://www.britannica.com/place/Burundi#ref40651
-https://www.britannica.com/biography/Pierre-Nkurunziza
-https://borgenproject.org/why-is-burundi-poor/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Geography_of_Burundi
-https://climateknowledgeportal.worldbank.org/country/burundi/vulnerability
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.CD?locations=BI&most_recent_value_desc=true
-https://tradingeconomics.com/burundi/inflation-cpi
-https://data.worldbank.org/indicator/DT.ODA.ODAT.CD?locations=BI