คนจนและคนรวย จ่ายภาษีเท่ากัน แต่เจ็บไม่เท่ากัน

คนจนและคนรวย จ่ายภาษีเท่ากัน แต่เจ็บไม่เท่ากัน

17 พ.ย. 2022
ภาษีคือสิ่งที่ทุกคนต้องจ่าย โดยแทบจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย
เงินเดือนออกก็ต้องเสียภาษีเงินได้
ไปซื้อของก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT
และหลายคนอาจคิดว่าอย่างไรคนรวยก็เสียภาษีมากกว่าคนจน
แต่บางคนก็บอกว่า คนจนเสียภาษีมากกว่าคนรวยต่างหาก
แล้วสรุปใครเสียมากกว่าใครกันแน่
BillionMoney จะวิเคราะห์ให้ฟัง
ภาษีมีหลายรูปแบบ และสามารถมองได้หลายมุม
หนึ่งในรูปแบบของภาษีที่เราเห็นกันบ่อย ๆ คือ
ภาษีแบบก้าวหน้า เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เก็บในอัตราที่มากขึ้น เมื่อมีรายได้มากขึ้น
ถ้าเป็นภาษีประเภทนี้ ก็คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่า คนรวยต้องเสียภาษีมากกว่าคนจน
แต่ยังมีภาษีอีกหนึ่งรูปแบบที่เราต้องโดนกันบ่อย ๆ นั่นก็คือ ภาษีแบบถดถอย เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งถ้าคิดว่าคนที่มีรายได้เยอะกว่า จะบริโภคมากกว่า ก็อาจสรุปได้ว่า คนรวยต้องจ่ายภาษีมากกว่าเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม การคิดแบบนี้เป็นแค่การมองเพียงในด้านของจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย
เพราะถ้ามองในแง่ของภาระที่ผู้จ่ายต้องรับแล้ว กลับกลายเป็นว่า คนจนต้องรับภาระทางภาษี มากกว่าคนรวย
เพราะภาษีแบบถดถอยเป็นภาษีที่ทุกคนต้องจ่ายเท่ากัน ไม่ว่าจะมีความสามารถในการจ่ายเท่าไร
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น
นาย A มีรายได้ 1,000 บาท
นาย B มีรายได้ 10,000 บาท
ถ้าทั้งสองคนซื้อของ 100 บาท
จะต้องเสียภาษีเท่ากันที่ 7 บาท
เท่ากับว่านาย A ต้องเสียภาษี 0.7% ของรายได้
ในขณะที่นาย B เสียภาษีเพียง 0.07% ของรายได้
จะเห็นได้ว่านาย A ต้องแบกรับภาระภาษีมากกว่านาย B
และนอกจากนี้ยังมีอีกหลายภาษี ที่คนจนก็ต้องจ่ายเท่ากับคนรวย แม้จะมีความสามารถในการจ่ายน้อยกว่า
เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีนำเข้า ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการบริการจากรัฐ อย่างค่าทางด่วน ค่าเข้าอุทยานแห่งชาติ และอีกมากมาย
ดังนั้นถ้าจะบอกว่า คนจนต้องเสียภาษีมากกว่าคนรวย ก็คงจะไม่ผิดอีกเช่นกัน ถ้ามองในแง่ของผลกระทบ ที่ส่งผลต่อรายได้ที่มี
และถ้าถามว่าทำไมภาษี ถึงต้องมีหลายรูปแบบ
เพราะภาษีแต่ละรูปแบบก็มีข้อดีแตกต่างกันออกไป
อย่างภาษีแบบก้าวหน้า ก็ช่วยในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้คนที่มีรายได้น้อย ไม่ต้องแบกรับภาระภาษีมากจนเกินไป
ส่วนภาษีแบบถดถอยที่เก็บทุกคนเท่ากัน ซึ่งง่ายต่อการจัดเก็บ
นอกจากรูปแบบของภาษีแล้ว การพิจารณาเรื่องภาษีก็สามารถมองได้หลายมุม
ถ้ามองในหลักผลประโยชน์ที่ได้รับแล้ว ก็อาจจะไม่แปลกหากคนที่มีรายได้น้อย ต้องจ่ายภาษีเท่ากับคนรวย ถ้าได้ประโยชน์เท่ากัน
ยกตัวอย่างเช่น ค่าทางด่วน ไม่ว่าจะรวยหรือจน ถ้าใช้ทางด่วนเหมือนกัน ก็ควรเสียเท่ากัน ส่วนคนที่ไม่ได้ใช้ หรือไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่ต้องเสีย
แต่ทั้งนี้ บางทีคำถามที่ว่าใครต้องจ่ายภาษีมากหรือน้อยกว่ากัน ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ
เพราะถ้าไปถามคนในแถบสแกนดิเนเวียแล้ว ถึงแม้จะมีอัตราภาษีที่สูงมาก แต่ก็อาจจะคุ้มค่า เพราะได้รับประโยชน์กลับมาในรูปของสวัสดิการดี ๆ
หรือคำถามที่สำคัญจริง ๆ แล้ว อาจจะเป็น เราได้อะไรจากการจ่ายภาษี
เพราะบางทีถ้าทุกคนรู้สึกถึงผลประโยชน์ ที่ตัวเองได้รับจากการจ่ายภาษี ก็อาจจะไม่มีใครมานั่งถามว่า คนรวยหรือคนจน ใครจ่ายภาษีมากกว่ากัน
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.