กสทช. เห็นชอบให้ TRUE-DTAC ควบรวมได้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น ?

กสทช. เห็นชอบให้ TRUE-DTAC ควบรวมได้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น ?

21 ต.ค. 2022
เมื่อวาน กสทช. มีมติรับทราบให้ TRUE และ DTAC ควบรวมกันได้เรียบร้อยแล้ว
แต่ประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างยาวนานในที่ประชุม คือ มาตรการที่จะต้องบังคับใช้ภายหลังการควบรวม
การควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC จึงเป็นการควบรวมแบบมีเงื่อนไข
เงื่อนไขดังกล่าวมีอะไรบ้าง และจะส่งผลกระทบกับค่าใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของเราในอนาคตอย่างไร
วันนี้ทาง BillionMoney ได้รับเกียรติจากคุณวสุ มัทนพจนารถ ผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่มาวิเคราะห์ให้ฟัง แบบเข้าใจง่าย ๆ
เงื่อนไขแรกคือ มาตรการ Duo Brands ซึ่งเป็นการกำหนดให้ทำธุรกิจแยกเป็น 2 แบรนด์ไปก่อน ภายหลังจากที่มีการควบรวมสำเร็จแล้ว เป็นระยะเวลา 3 ปี
แปลว่าอีก 3 ปีต่อจากนี้ เราก็จะยังเห็นแบรนด์ TrueMove H และ DTAC อยู่
เพื่อให้ผู้บริโภคปรับตัวได้
เงื่อนไขที่ 2 คือ เรื่องการครอบคลุมการให้บริการ 5G ภายในระยะเวลา 3 ปี หลังจากการควบรวม การให้บริการสัญญาณ 5G ต้องคิดเป็น 85% ของประชากรไทย
และยังมีเงื่อนไขอื่น ที่ออกมาเพื่อคุ้มครองคู่ค้าเดิม และผู้บริโภคอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ยังมีอีก 3 มาตรการ ที่อาจเป็นอุปสรรคให้การควบรวมกันทำได้ยากขึ้น
และยังไม่มีความชัดเจน คือ
1.มาตรการควบคุมราคา
2.มาตรการการใช้สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่เดิม ว่าจะใช้ร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหน
3.จำนวนเสาโทรคมนาคมอาจลดลงไม่ได้
ประเด็นการควบคุมราคา ทาง กสทช. กำหนดว่าต้องลดค่าธรรมเนียมการให้บริการลง 12% โดยคิดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกับจำนวนผู้ใช้บริการ
ประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจน ว่าต้องมีการคำนวณผู้ใช้บริการอย่างไร เพราะถ้าคิดจากค่าบริการในปัจจุบัน จะทำให้เมื่อมีการควบรวมกันแล้ว รายได้จะลดลงทันที 12%
นั่นจะทำให้การควบรวม ส่งผลเสียมากกว่าการไม่ควบรวม
ขณะที่ถ้าคิดจากเพดานราคาสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทุกวันนี้ก็ไม่มีใครตั้งราคาใกล้กับเพดานราคาเลย ก็แทบจะไม่ส่งผลกระทบกับรายได้เลย
ยกตัวอย่างเช่น ค่าบริการอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน มีการกำหนดเพดานราคาอยู่ที่ 160 บาท ต่อ GB
ซึ่งทุกวันนี้ก็ไม่มีใครจ่ายในราคานี้อยู่แล้ว
ประเด็นต่อมา คือ การใช้สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่เดิม ว่าจะใช้ร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหน
ประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจน ว่าจะใช้ร่วมกันได้ไหม
ซึ่งทาง TRUE และ DTAC เอง ก็อยากให้มีการรวมสัญญาสัมปทานอยู่ภายใต้การบริหารโดยบริษัทเดียว
เพื่อให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารลงได้ และการลงทุนจะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หากไม่ให้รวมคลื่นความถี่ แต่สามารถใช้เครือข่ายข้ามกันได้ ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างเสาสัญญาณ 2 ต้น ซึ่งในกรณีนี้ก็ยังถือว่าส่งผลดีต่อการควบรวมอยู่
แต่ถ้า กสทช. ไม่ให้รวมคลื่น และไม่ให้ใช้เครือข่ายข้ามกันได้ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการควบรวม
ประเด็นสุดท้าย คือ เรื่องการห้ามลดจำนวนเสาสัญญาณ เพราะมีความกังวลว่าคุณภาพของสัญญาณอาจลดลง
ประเด็นนี้ค่อนข้างมีความชัดเจนว่าจะมีการบังคับใช้อย่างแน่นอน
ซึ่งจะทำให้การลดต้นทุนทำได้ยากมาก ภายหลังจากการควบรวมเป็นบริษัทใหม่
คาดว่าหากลดเสาสัญญาณลงได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนไปได้มากถึง 4,000 ล้านบาท
ซึ่งมากกว่าผลขาดทุนของ TRUE ในครึ่งปีนี้ ที่อยู่ที่ 2,378 ล้านบาท
ถ้าทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว เริ่มมีความชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อการควบรวมทั้งหมด
ในปี 2569 เป็นต้นไป จะสามารถประหยัดต้นทุนได้มากกว่า 17,000 ล้านบาทต่อปี
แบ่งเป็นการลดภาระการลงทุนในเครือข่าย ปีละ 8,000 ล้านบาท
และการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอีก 9,800 ล้านบาท
สำหรับความเป็นไปได้ที่ดีลจะล่ม ในมุมมองของคุณวสุ มองว่าเป็นไปได้น้อยมาก
โดยต่อจากนี้เป็นเรื่องของการเจรจาให้ลงตัวกันมากกว่า
สำหรับมุมมองของราคาหุ้นทั้ง 2 ตัว มองว่าสิ่งต่อไปที่นักลงทุนจับตามองคือ การทำคำเสนอซื้อหุ้นโดยสมัครใจ เพื่อโอนหุ้นเข้าไปในบริษัทใหม่
ประเด็นนี้คุณวสุ มองว่าราคาหุ้น DTAC มีโอกาสปรับตัวขึ้นมากกว่า TRUE
เพราะราคาตลาดในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาที่เสนอซื้อ โดยบริษัทใหม่อยู่ที่ 47.76 บาทต่อหุ้น
ขณะที่ราคาเสนอซื้อหุ้น TRUE อยู่ที่ 5.09 บาทต่อหุ้น
เมื่อมีการควบรวมกันจนเหลือบริษัทแค่ 2 รายในอุตสาหกรรม จะเป็นอย่างไร ?
ในระยะสั้น ปี 2566 จะมีการแข่งขันที่รุนแรงอยู่ และจะเป็นจังหวะทองของ AIS ในการดึงฐานลูกค้ามากขึ้น ในช่วงที่ TRUE กับ DTAC กำลังยุ่งอยู่กับการจัดระเบียบภายในบริษัทใหม่
หลังจากปี 2567 เป็นต้นไป ก็จะเริ่มเห็นการแข่งขันที่น้อยลง และมีโอกาสที่จะได้เห็นการปรับเพิ่มขึ้น ของค่าบริการโทรศัพท์มือถือที่สูงมาก
ขณะที่คู่แข่งรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดนี้ก็ยากมาก เพราะเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง
โดยคุณวสุมองว่า ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการควบรวมในครั้งนี้ ไม่ใช่ทั้ง TRUE และ DTAC แต่กลับเป็น ADVANC
-ในระยะสั้นถึงระยะกลาง ADVANC จะได้รับประโยชน์ จากการดึงผู้ใช้งานมาได้ ในช่วงที่มีการปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ของ TRUE และ DTAC
-ในระยะยาวก็ได้ประโยชน์จากการมีคู่แข่งที่ลดลง จนส่งผลให้อัตรากำไรเพิ่มขึ้น
หมายเหตุ: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.