ประเทศ เลบานอน เจออะไร ? ถึงมีแต่ คนย้ายออก

ประเทศ เลบานอน เจออะไร ? ถึงมีแต่ คนย้ายออก

3 ต.ค. 2022
รู้หรือไม่ว่า ประชากรชาวเลบานอน ที่อาศัยอยู่ในบราซิลนั้น
มีปริมาณมากกว่าชาวเลบานอน ในเลบานอนเสียอีก โดยมีการประมาณการว่า
ชาวเลบานอนในบราซิลนั้น มีมากถึงประมาณ 7-10 ล้านคน
ในขณะที่ประชากรเลบานอนในปัจจุบันนั้น มีเพียงแค่ 5.5 ล้านคนเท่านั้น
ซึ่งถ้าหากนับรวมกับชาวเลบานอน ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกแล้ว
ก็พบว่าชาวเลบานอน ที่อยู่ต่างประเทศ อาจมีจำนวนมากถึง 14 ล้านคนเลยทีเดียว
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าเพราะเหตุใด ชาวเลบานอนจำนวนมาก
ถึงอยู่ต่างประเทศ มากกว่าบ้านเกิดของตัวเองแบบนี้ ?
BillionMoney จะย่อยให้เข้าใจ
เลบานอน เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้
มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่เหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ทำให้กลายเป็น ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ มาตั้งแต่โบราณ
นอกจากนี้ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเลบานอน ยังทำให้เลบานอน
ได้เปรียบในเรื่องการค้าขาย เนื่องจากอยู่ติดกับชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ซึ่งเชื่อม 3 ทวีปเข้าด้วยกัน ได้แก่ ยุโรป, แอฟริกา และเอเชีย ในส่วนตะวันออกกลาง
จึงไม่แปลกที่เลบานอน จะเป็นศูนย์กลางทางการค้า มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรฟีนีเชีย
เมื่อ 3,000 กว่าปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่จะถูกหลาย ๆ อาณาจักร ผลัดเปลี่ยนกันยึดครอง
ไม่ว่าจะเป็น อียิปต์, เปอร์เซีย, โรมัน จนกระทั่งการมาถึงของจักรวรรดิออตโตมัน
ที่ปกครองเลบานอน ได้นานที่สุดถึง 400 กว่าปี
ซึ่งถึงแม้เลบานอน จะมีชุมชนชาวคริสต์แต่เดิม ในขณะที่จักรวรรดิออตโตมัน
ผู้ปกครองเป็นชาวมุสลิม แต่ทั้งชาวคริสต์ และชาวมุสลิม
ต่างก็อยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย จนกระทั่งในช่วงปี 1830
ชาวคริสต์ในเลบานอน เริ่มมีอำนาจในทางเศรษฐกิจ มากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะร่ำรวย จากการติดต่อค้าขาย กับประเทศยุโรป ที่เป็นชาวคริสต์ด้วยกัน
ซึ่งในขณะนั้น ก็กำลังเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับจักรวรรดิออตโตมัน
ที่ผ่านช่วงเจริญรุ่งเรืองมาแล้ว
สิ่งนี้เองได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจ ระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิม
จนกระทั่งเกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นมา ในช่วงปี 1840 ถึงปี 1860
ส่งผลให้ชาวคริสต์ เสียชีวิตไปมากกว่า 20,000 คน
เหตุการณ์นี้เอง เป็นสาเหตุให้เกิดกลุ่มผู้อพยพชาวเลบานอนกลุ่มแรก
ซึ่งมีทั้งอพยพเพื่อลี้ภัยไปยังประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส หรืออพยพเพื่อไปแสวงโชคในโลกใหม่
เช่น สหรัฐอเมริกา, อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย เป็นต้น
จนกระทั่งเลบานอน ได้ถูกปกครองโดยฝรั่งเศสแทน หลังจักรวรรดิออตโตมัน
แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้ทำให้ศาสนาคริสต์เรืองอำนาจ และยังได้ช่วย
พัฒนาเลบานอน ให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าขาย และศูนย์กลางการเงิน
ของภูมิภาค จน นครเบรุต เมืองหลวงของเลบานอน ได้ฉายาว่า “ปารีสแห่งตะวันออกกลาง”
ปี 1943 เลบานอน ก็ได้รับเอกราช ในการปกครองตนเอง
ซึ่งในช่วงแรก ประเทศเลบานอน ยังมีสัดส่วนของชาวคริสต์มากกว่าอยู่
โดยในปี 1970 เลบานอน มีสัดส่วนของชาวคริสต์มากถึง 62%
แต่เมื่อเวลาผ่านไป สัดส่วนของชาวมุสลิม ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งจากชาวเลบานอนมุสลิม ที่มีประชากรมากขึ้น
และผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ ที่หนีมาจากการโจมตีของอิสราเอล
สิ่งนี้เองทำให้เกิดความตึงเครียด ระหว่างสองศาสนาขึ้นอีกครั้ง
จนนำไปสู่สงครามกลางเมือง ที่ยาวนานถึง 15 ปี ตั้งแต่ปี 1975 ถึงปี 1990
และทำลายบ้านเมืองอันสวยงาม จนกลายเป็นเพียงซากปรักหักพัง
สงครามกลางเมืองครั้งนี้ ได้ทำให้เกิดกระแสผู้อพยพชาวเลบานอน
เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งนี้ มีทั้งชาวคริสต์ ที่ส่วนใหญ่จะอพยพไปยังประเทศ
ซึ่งมีชาวคริสต์ย้ายไปอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ระลอกก่อน เช่น บราซิล และสหรัฐอเมริกา
และชาวมุสลิม ก็อพยพไปยังประเทศตะวันออกกลางอื่น ที่ช่วงนั้นกำลังร่ำรวยด้วยน้ำมัน
หลังจากนั้นในปี 1990 สงครามกลางเมืองก็สงบลง และประเทศเลบานอน
ก็เดินหน้าเข้าสู่ การซ่อมแซมประเทศที่เสียหาย จากสงครามกลางเมือง ขึ้นมาใหม่
เศรษฐกิจของประเทศก็เริ่มฟื้นตัว จากภาคการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และการท่องเที่ยว
ส่งผลให้ในช่วงปี 2000 ถึงปี 2010 เศรษฐกิจของเลบานอน เติบโตเฉลี่ย 8.3% ต่อปี
ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้ดี จนกระทั่งปี 2011 สงครามกลางเมืองซีเรียได้ระเบิดขึ้น
ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเป็นอย่างมาก เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย
ทำให้เศรษฐกิจของเลบานอนในปีนั้น เติบโตเพียงแค่ 0.9% เท่านั้น
นอกจากนี้ การที่เลบานอนเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ในการซ่อมแซมประเทศ
ส่งผลให้เลบานอน ต้องทำการกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งรัฐบาลของเลบานอน
ยังมีการคอร์รัปชันที่สูงมากอีกด้วย ทำให้เกิดการใช้งบประมาณผิดพลาดอยู่เนือง ๆ
ส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ทะลุ 100% ตั้งแต่ปี 1996 และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จนแตะจุดสูงสุดในปี 2019 ที่ 171% ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้เอง รัฐบาลเลบานอน จึงตัดสินใจ
เก็บภาษีเพิ่ม เพื่อจะได้มีเงินจ่ายหนี้ เช่น เก็บภาษีการใช้เฟซบุ๊ก และ WhatsApp เป็นต้น
สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชน จนนำไปสู่การประท้วง ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
เหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้นในปี 2020 เมื่อเกิดเหตุการณ์ ท่าเรือเบรุตระเบิด
ส่งผลให้ชาวเลบานอน เกือบแสนคน กลายเป็นคนไร้บ้านทันที จากการที่บ้านเรือน
ใกล้ ๆ กับท่าเรือ ต่างถูกแรงระเบิดทำลาย และยังมีการระบาดของโควิด 19
ที่ทำให้เลบานอน ต้องทำการล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจย่ำแย่ลงไปอีก
2 เหตุการณ์นี้ รัฐบาลเลบานอน ก็ไม่สามารถช่วยซ่อมแซมบ้านเรือน
และอัดฉีดงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เนื่องจากสถานะการคลังของประเทศ
แทบจะไม่มีเงินเหลืออยู่แล้ว จากภาระหนี้ที่สูงมากถึง 154% ของ GDP
ทำให้รายได้ต่อหัวของชาวเลบานอน ลดลงถึง 36% ในปีเดียว
วิกฤติในครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดกระแส ผู้อพยพขึ้นอีกครั้ง
โดยในครั้งนี้ นอกจากชาวเลบานอนจะอพยพไปยังประเทศในทวีปยุโรป, ทวีปอเมริกา
หรือประเทศร่ำรวยในตะวันออกกลางแล้ว ยังมีชาวเลบานอนบางส่วน
อพยพไปไกลถึงทวีปแอฟริกาอีกด้วย เช่น ไนจีเรีย และเซเนกัล เป็นต้น
สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ในเลบานอนนั้น สิ้นหวังมากเพียงใด
เพราะชาวเลบานอน ถึงกับยอมอพยพ ไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา
ที่มีรายได้ต่ำกว่า แทนที่จะอยู่ในประเทศของตนเองต่อไป
โดยในปี 2020 ชาวเลบานอนที่อพยพ มีจำนวน 17,000 กว่าคนเท่านั้น
แต่ในปี 2021 ชาวเลบานอนที่อพยพ มีจำนวนมากถึง 79,134 คน
ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบัน ของเลบานอน ก็ยังไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด
เพราะเมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารทั่วประเทศของเลบานอน ต้องประกาศปิดตัว
เพื่อป้องกันการถูกบุกปล้น แถมรัฐบาลเลบานอน ยังถูกลดคะแนนความโปร่งใส
เมื่อปีก่อน จนทำให้อันดับตกลงมาจาก 149 เป็น 154 ด้วย
ซึ่งการที่เลบานอน มีประชากรอพยพออกจากประเทศตลอดเช่นนี้
ก็ได้ส่งผลให้ ประเทศเลบานอน ยากที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ ในระยะยาวได้
เนื่องจากไม่เหลือผู้คน ที่มีความสามารถมากพอ ในการพัฒนาบ้านเมืองต่อไป
เพราะผู้อพยพหลายคน ต่างก็เป็นแรงงานมากฝีมือ อย่างหมอ, นายธนาคาร หรือนักวิจัย
ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ประเทศที่มีศักยภาพ ในการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
อย่างเลบานอน เนื่องจากมีผืนดินอุดมสมบูรณ์, ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี
แถมยังเป็นศูนย์กลางทางการค้า และการเงิน มาตลอดตั้งแต่โบราณ
แต่ความขัดแย้งที่มีอยู่ตลอด และการบริหารที่ล้มเหลวของประเทศ ก็ได้ทำให้ปัจจุบัน
เลบานอน กลับต้องกลายเป็นประเทศที่ มีคนอพยพออกจำนวนมาก..
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.