“Herding Behavior” พฤติกรรมที่บอกว่า ทำไมเราเห็นหุ้นขึ้น แล้วอยากซื้อ

“Herding Behavior” พฤติกรรมที่บอกว่า ทำไมเราเห็นหุ้นขึ้น แล้วอยากซื้อ

19 ส.ค. 2022
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเวลาเราได้ยินคนรอบตัวพูดถึงหุ้น หรือเหรียญคริปโท
แล้วราคาของสินทรัพย์เหล่านั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เราจะมีความรู้สึกสนใจอยากเข้าไปซื้อ
ในทางกลับกัน หากราคาของสินทรัพย์ไหน ปรับตัวเป็นขาลง
และทุกคนต่างพูดถึงสินทรัพย์นั้นในแง่ลบ เรามักจะมีความรู้สึกไม่อยากซื้อ
จริง ๆ แล้ว มีทฤษฎีที่อธิบายถึงพฤติกรรมของนักลงทุนแบบนี้อยู่ เรียกว่า Herding Behavior
โดยทฤษฎีนี้เป็นการเปรียบเทียบพฤติกรรมของนักลงทุน ที่มักจะทำอะไรตามกันเหมือนฝูงสัตว์
นักลงทุนกลุ่มดังกล่าว มักจะไม่ค่อยมีมุมมองการลงทุนเป็นของตัวเอง
และหวังแต่จะคอยฟังความคิดเห็นของนักลงทุนคนอื่น
แม้ในบางครั้งก็อาจจะสร้างผลกำไรได้บ้าง
แต่ในระยะยาวนั้น พวกเขาก็มีโอกาสที่จะขาดทุนได้สูง
เนื่องจากในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น เราก็มักจะได้รับแต่ข่าวดี
ขณะที่ในช่วงที่ตลาดเป็นขาลง เราก็มักจะได้รับแต่ข่าวร้าย
ทำให้เราไม่สามารถขายหุ้น เพื่อทำกำไรได้ทัน
และจะไม่สามารถซื้อหุ้นได้ ในราคาที่เหมาะสม
Herding Behavior มักก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงิน เพราะราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง มักจะมาพร้อมกับการกระจายข่าวสารในด้านดี เพียงด้านเดียว
ปัจจัยเหล่านี้ เป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ที่ก่อให้เกิดความโลภขึ้นมาในจิตใจของนักลงทุน
เมื่อนักลงทุนเกิดความโลภ นักลงทุนก็จะรีบเข้าไปซื้อสินทรัพย์นั้น
โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ เพราะกลัวว่าจะตกรถ
เมื่อทุกคนเข้าไปซื้อพร้อม ๆ กัน ฟองสบู่ก็ขยายตัวใหญ่ขึ้น
จนถึงจุดที่นักลงทุนเงินหมด ฟองสบู่ก็จะแตก
แล้วเราจะสามารถหลีกเลี่ยง Herding Behavior ได้อย่างไร ?
วิธีที่ง่ายที่สุดที่เราจะสามารถหลีกเลี่ยง Herding Behavior นั่นก็คือ การศึกษาหาข้อมูล และตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเอง รวมถึงการลงทุนเฉพาะในสิ่งที่ตัวเราเองรู้จัก และเข้าใจเป็นอย่างดี โดยพยายามอย่าให้ความคิดเห็นของคนอื่น มีผลต่อการตัดสินใจของเรา
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า Herding Behavior จะไม่มีข้อดี
เพราะจริง ๆ แล้ว Herding Behavior ก็คือ การลงทุนแบบ Momentum รูปแบบหนึ่ง
ซึ่งหากเราเข้าลงทุนตั้งแต่ช่วงต้นของแนวโน้มขาขึ้น และขายทำกำไรเมื่อถึงจุดที่กำหนด ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้มีอะไรที่ตรงไปตรงมา
เพราะหลายครั้งที่ Herding Behavior ก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่
เมื่อฟองสบู่แตก ทุกคนก็พร้อมใจกันเทขาย ทำให้ราคาปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง
ทำให้นักลงทุนที่ลงทุนตาม Momentum ของตลาดอาจขายไม่ทัน จนประสบปัญหาขาดทุนได้
นักลงทุนจึงต้องศึกษาข้อมูลอื่น ๆ ควบคู่กันไป และใช้ Herding Behavior ให้เหมือนกับการได้รับข่าวสารด้านการลงทุน มากกว่าใช้กำหนดว่าเราจะซื้อหรือขายเมื่อไร..
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.