ดัชนี HHI ตัวชี้วัด ที่ใช้บอกว่าตลาดมีการผูกขาด มากแค่ไหน

ดัชนี HHI ตัวชี้วัด ที่ใช้บอกว่าตลาดมีการผูกขาด มากแค่ไหน

8 ส.ค. 2022
การที่ตลาดของสินค้าชนิดหนึ่ง ถูกผูกขาดโดยผู้ขายเพียงรายเดียว ส่วนใหญ่แล้วจะนำมาซึ่งผลเสียต่อผู้บริโภค มากกว่าผลดี
เพราะเมื่อทั้งตลาดเหลือผู้ขายเพียงรายเดียว ผู้ขายจะสามารถขึ้นราคาสินค้าที่สูงมากได้ เนื่องจากไม่ต้องกังวลว่าจะมีคู่แข่งมาตัดราคา หรือถ้าหากไม่ขึ้นราคา ผู้ขายรายนั้นก็อาจลดต้นทุนของสินค้าลง เพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น และนำไปสู่คุณภาพของสินค้าที่ลดลง
นอกจากนี้ การที่ผู้ผูกขาดไม่ต้องเผชิญกับคู่แข่ง ยังส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวอีกด้วย
เพราะผู้ขายไม่มีแรงจูงใจที่จะต้องพัฒนาตัวเอง จึงทำให้การพัฒนาของเทคโนโลยีไม่เกิดขึ้น
ผลเสียที่มากมายของการผูกขาดนี้เอง ได้ทำให้รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศ ต้องตั้งหน่วยงานกำกับดูแลการค้าขึ้นมา เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด
โดยหน่วยงานในประเทศไทย ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลการผูกขาด ซึ่งเป็นที่รู้จัก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
แต่การที่รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงตลาดบ่อย ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องดีเช่นกัน เพราะอาจเป็นการตัดตอนธุรกิจที่กำลังเติบโตอยู่ก็เป็นได้ เพราะธุรกิจที่ทำได้ดีก็มักจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูง เพราะฉะนั้นหน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า การผูกขาดในระดับใดถึงจะต้องมีการแทรกแซงจากหน่วยงานของรัฐ
ตัวชี้วัดที่หน่วยงานของรัฐในหลายประเทศนิยมใช้กัน คือ Herfindahl-Hirschman Index
หรือเรียกสั้น ๆ ว่าดัชนี HHI เนื่องจากมีความง่ายในการตีความและการคำนวณ
โดยดัชนี HHI นั้น จะแสดงความรุนแรงในการแข่งขันในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ โดยคำนวณจาก
การรวมส่วนแบ่งทางการตลาด ของบริษัททั้งหมดในอุตสาหกรรม ที่ทำการยกกำลังสองแล้ว เข้าด้วยกัน จากนั้นก็นำค่าดัชนี HHI ที่คำนวณได้ ไปเทียบกับเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
สำหรับเกณฑ์ของดัชนี HHI นั้น สามารถแบ่งได้ดังนี้
ถ้าหากดัชนี HHI มีค่าน้อยกว่า 1,500 แปลว่า ตลาดมีการแข่งขันสูง
ถ้าหากดัชนี HHI มีค่าตั้งแต่ 1,500 ถึง 2,500 แปลว่า ตลาดมีการแข่งขันในระดับปานกลาง
ถ้าหากดัชนี HHI มีค่ามากกว่า 2,500 ขึ้นไป แปลว่า ตลาดมีการกระจุกตัวสูง
และถ้าหากดัชนี HHI มีค่าเท่ากับ 10,000 ก็หมายความว่า เป็นการผูกขาดอย่างสมบูรณ์
ตัวอย่างการคำนวณดัชนี HHI ก็เช่น สมมติว่าตลาดแห่งหนึ่ง ประกอบด้วย บริษัท A, บริษัท B และบริษัท C
เพียงแค่ 3 เจ้า ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 50%, 30% และ 20% ตามลำดับ
เมื่อนำตัวเลขส่วนแบ่งทางการตลาด คือ 50, 30 และ 20 มายกกำลังสอง ก็จะได้ตัวเลขของแต่ละบริษัทเท่ากับ 2,500, 900 และ 400
จากนั้นเมื่อนำมารวมกันแล้ว ก็จะเท่ากับ 3,800 ซึ่งถ้าหากเทียบกับเกณฑ์ที่ระบุไว้ข้างต้นแล้ว ก็สามารถบอกได้ว่าตลาดแห่งนี้ เป็นตลาดที่มีการกระจุกตัวสูง ทำให้ผู้ขายรายใหญ่มีอำนาจเหนือตลาดมาก
การมีผู้ขายน้อยราย ซึ่งถือส่วนแบ่งในตลาดมาก อย่างที่แสดงในตัวอย่างการคำนวณนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ขายเหล่านั้น จะใช้อำนาจตลาดที่มีอยู่มากในการขึ้นราคา หรือกีดกันผู้ขายรายอื่น ๆ ไม่ให้เข้ามาแข่งขัน คล้ายกันกับการผูกขาด
ทำให้รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยเอง ตั้งเกณฑ์ให้หน่วยงานของรัฐสามารถเข้ามาควบคุมการควบรวม และซื้อกิจการ ที่จะทำให้ดัชนี HHI มีค่ามากกว่า 2,500 หรือทำให้ดัชนี HHI เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเกิน 100
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
เมื่อเราดูค่าดัชนี HHI ของตลาดอินเทอร์เน็ตบ้าน และตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน จากการคำนวณของ 101 Public Policy Think Tank พบว่า ค่าดัชนี HHI อยู่ที่ 2,644 และ 3,556 ตามลำดับ
สะท้อนได้ว่าอุตสาหกรรมนี้ มีการผูกขาดไม่น้อย เลยทีเดียว..
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.