สรุป 15 เช็กลิสต์ ค้นหาหุ้นเติบโต ตามแบบฉบับ Philip Fisher

สรุป 15 เช็กลิสต์ ค้นหาหุ้นเติบโต ตามแบบฉบับ Philip Fisher

14 ก.ค. 2025
หากเป้าหมายการลงทุนของเราคือ การถือหุ้นดี ๆ ไปอีก 10 ปี คำถามสำคัญคงไม่ใช่แค่ตอนนี้ราคาหุ้นเท่าไร หรือ P/E ต่ำแค่ไหน ?
แต่ควรถามให้ลึกกว่านั้นว่า..
ธุรกิจนี้ยังโตต่อได้อีกไหม โตได้เพราะอะไร ?
และผู้บริหารมีวิสัยทัศน์อย่างไร ?
เพราะการรู้จักตั้งคำถามที่ดี จะช่วยให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง
ตำนานนักลงทุน อย่างคุณ Philip Fisher ผู้ได้ฉายา บิดาแห่งการลงทุนหุ้นเติบโต ก็เชื่อในหลักคิดเดียวกันนี้
เพราะเขาได้ตั้งคำถามถึง 15 ข้อที่จะช่วยให้เข้าใจธุรกิจมากกว่า แค่การดูตัวเลขผิวเผิน และเจาะลึกไปถึงคุณภาพของธุรกิจ รวมถึงศักยภาพการเติบโตในอนาคต
หากอยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
เช็กลิสต์ 15 ข้อที่คุณ Philip Fisher ใช้เลือกหุ้นเติบโต เพื่อหาบริษัทที่น่าลงทุนและถือยาว ๆ ได้แก่
1. บริษัทมีสินค้าและบริการที่มีศักยภาพ ในการเติบโตไปได้อีกหลายปีข้างหน้าหรือไม่ ?
คำว่า “ศักยภาพในการเติบโต” ไม่ได้หมายถึง แค่ยอดขายปีนี้ หรือปีหน้าว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าไร 
แต่หมายถึง บริษัทอยู่ในตลาดที่ยังขยายตัวได้ มีโอกาสแตกไลน์สินค้า หรือขยายฐานลูกค้า ไปยังกลุ่มใหม่ ๆ ได้มากแค่ไหน
2. ผู้บริหารมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องหรือไม่ ?
สินค้าที่ขายดีในวันนี้ วันหนึ่งก็อาจจะถึงจุดอิ่มตัวได้ หากบริษัทหยุดอยู่แค่ความสำเร็จเดิม ๆ ไม่พัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น หรือคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ยอดขายก็จะถึงทางตันในที่สุด
บริษัทที่จะเติบโตได้ยาวนาน ผู้บริหารจะต้องลงทุนวิจัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อหาโอกาสใหม่อยู่เสมอ
3. การวิจัยและพัฒนา (R&D) ของบริษัทมีประสิทธิภาพแค่ไหน ?
นวัตกรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน ว่าบริษัทลงทุนกับ R&D มากแค่ไหน เพราะตัวเลขอาจหลอกตาได้ และแต่ละบริษัทก็มีวิธีลงบันทึกค่าใช้จ่าย R&D ที่แตกต่างกัน
สิ่งสำคัญคือ บริษัทมีทีมนักวิจัย ที่สามารถเปลี่ยนไอเดียดี ๆ ให้กลายเป็นสินค้าที่ขายได้จริง และตอบโจทย์ตลาด เพื่อให้ยอดขายเติบโตในระยะยาวได้หรือไม่
4. บริษัทมีทีมขายที่แข็งแกร่งกว่าคู่แข่งหรือไม่ ?
ไม่ว่าสินค้าจะดีแค่ไหน ถ้าขาดทีมขายที่มีประสิทธิภาพ สินค้านั้นก็อาจไม่ได้รับความสนใจอย่างที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้ ความแข็งแกร่งของทีมขายไม่ได้วัดกันที่จำนวนคน แต่คือความสามารถในการสื่อสารจุดเด่นของสินค้าให้เข้าถึงใจลูกค้า ผ่านทั้งการตลาด การจัดจำหน่าย และการปิดการขายอย่างมีประสิทธิภาพ
5. บริษัทมีอัตรากำไรที่ดีหรือไม่ ?
ต่อให้ยอดขายเติบโตแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนยอดขายให้เป็นกำไรได้จริง ก็อาจจะไม่มีเงินพอสำหรับการลงทุนต่อยอด หรือจ่ายปันผลได้ในระยะยาว
แต่ทั้งนี้ อัตรากำไรที่ต่ำก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป ถ้าเป็นการยอมลดกำไรชั่วคราวเพื่อลงทุนใน R&D หรือขยายตลาดใหม่ ก็อาจสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ระยะยาวที่น่าสนใจได้
6. บริษัทมีแนวทางรักษาหรือเพิ่มอัตรากำไรอย่างไร ?
อัตรากำไรที่ดีในวันนี้ ไม่ได้การันตีว่าบริษัทจะรักษาไว้ได้ตลอดไป เพราะต้นทุนวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ล้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ
บริษัทที่ดีควรมีแผนรับมือ อย่างการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ลดต้นทุนหรือการขยายไปขายสินค้าที่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้น
7. บริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานหรือไม่ ?
บริษัทที่ดีจะมีความสามารถในการดึงดูดคนเก่งให้เข้ามาทำงาน และรักษาคนเหล่านั้นให้อยู่กับองค์กรได้นาน ซึ่งมักสะท้อนผ่านอัตราการลาออกที่ต่ำ
เพราะเมื่อพนักงานรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และได้รับการดูแลเอาใจใส่ พวกเขาก็พร้อมจะทุ่มเท และขับเคลื่อนบริษัทให้เติบโตต่อไปในระยะยาว
8. ผู้บริหารระดับสูงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันหรือไม่ ?
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารระดับสูงด้วยกันเองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
เพราะหากทีมผู้บริหารขัดแย้งกัน เล่นการเมืองภายใน ก็จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และฉุดรั้งประสิทธิภาพขององค์กรโดยรวม
9. บริษัทมีผู้บริหารที่พร้อมรับช่วงต่อหรือไม่ ?
บริษัทที่ดีไม่ควรพึ่งพาผู้บริหารเพียงคนเดียวหรือพึ่งพาคนเก่งเพียงไม่กี่คน เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน อาจกระทบต่อความต่อเนื่องของธุรกิจได้
บริษัทที่ดีควรมีโครงสร้างการบริหารที่เข้มแข็ง มีการกระจายอำนาจ และมีผู้บริหารที่มีความสามารถอยู่ในทุกแผนก
10. บริษัทมีระบบวิเคราะห์ต้นทุนและการควบคุมบัญชีที่ดีหรือไม่ ?
บริษัทต้องรู้จริงในสิ่งที่ตัวเองทำ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน และการบริหารต้นทุนด้วยข้อมูลที่ละเอียดและถูกต้อง
ไม่ใช่แค่รู้ว่ายอดขายเติบโตเท่าไร แต่ต้องรู้ว่า กำไรเกิดจากจุดไหน และต้นทุนส่วนไหนควบคุมได้ เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการวางแผนธุรกิจ และสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
11. บริษัทมีข้อได้เปรียบเฉพาะที่เหนือกว่าคู่แข่งหรือไม่ ?
แม้บริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันจะดูคล้ายกัน แต่หากมองลึกลงไป บางบริษัทอาจจะมีจุดแข็งเฉพาะตัว ที่ทำให้เหนือกว่าคู่แข่ง
เช่น สิทธิบัตร แบรนด์ที่แข็งแกร่ง ช่องทางขายที่ครอบคลุมกว่า ความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ซึ่งแม้จะแตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม แต่ก็ล้วนสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว
12. บริษัทมีวิสัยทัศน์ที่เน้นกำไรระยะสั้นหรือระยะยาว ?
หลีกเลี่ยงผู้บริหารที่มองแค่กำไรระยะสั้น เพราะมักจะตัดงบสำคัญอย่าง R&D การตลาด หรือกดราคาซัปพลายเออร์ เพื่อให้กำไรดูดีในช่วงเวลาสั้น ๆ
สิ่งที่เราควรทำคือ มองหาบริษัทที่ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ ให้ความสำคัญกับการเติบโตในระยะยาว แม้ว่ากำไรในวันนี้ จะยังดูไม่โดดเด่นก็ตาม
13. บริษัทมีแนวโน้มต้องเพิ่มทุนบ่อยจนกระทบผู้ถือหุ้นเดิมหรือไม่ ?
บริษัทที่ดีควรเติบโตได้ด้วยกำไรสะสม หรือการกู้ยืมในระดับที่เหมาะสม โดยไม่ต้องเพิ่มทุนบ่อย ๆ
เพราะหากจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้กำไรจะโตจากการทำธุรกิจ แต่เมื่อถูกหารด้วยจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้สุดท้ายกำไรต่อหุ้นลดลง และกระทบสิทธิของผู้ถือหุ้นเดิม หรือที่เรียกว่า Dilution Effect 
อย่างไรก็ตาม หากบริษัทมีจุดแข็งในอีก 14 ข้อที่เหลือ การเพิ่มทุนก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลมากนัก
14. เมื่อบริษัทเจอปัญหา ผู้บริหารสื่อสารกับนักลงทุนอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ ?
ปัญหาและความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ แต่ผู้บริหารที่ดีจะกล้าเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา พร้อมอธิบายทางออกเพื่อรักษาความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้น
สิ่งที่ต้องระวังคือ บริษัทที่พูดถึงแต่เรื่องดี ๆ ตอนที่ทุกอย่างราบรื่น แต่กลับเงียบหายเมื่อเกิดปัญหา เพราะอาจสะท้อนถึงการขาดความรับผิดชอบและอาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าได้ในอนาคต
15. บริษัทมีผู้บริหารที่มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ?
ข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะต่อให้บริษัทจะเติบโตดี สินค้าดี หรือมีกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยมแค่ไหน ถ้าผู้บริหารไม่ซื่อสัตย์ ทุกอย่างก็อาจพังทลายได้ในชั่วข้ามคืน
เราควรมองหาผู้บริหารที่มีความซื่อสัตย์ ฉลาด ขยันทำงาน ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและยึดมั่นในผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
เพราะความไว้วางใจเป็นรากฐานสำคัญ ของการลงทุนที่ประสบความสำเร็จในระยะยาว
อ่านถึงตรงนี้ก็จะเห็นว่า เช็กลิสต์คำถามทั้ง 15 ข้อนี้ ไม่ใช่แค่คำถามธรรมดา แต่มันคือ “กรอบความคิด” ที่จะช่วยให้เราเข้าใจธุรกิจได้อย่างลึกซึ้ง
แล้วถ้าถามว่า เราจะหาคำตอบทั้งหมดนี้ได้จากที่ไหน ?
คำตอบก็คือการ Scuttlebutt 
ด้วยการลงพื้นที่ พูดคุย สังเกต และฟังเสียงจากคนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่แข่ง ซัปพลายเออร์ หรือแม้แต่พนักงานเก่า
เพราะเรื่องราวที่ได้ยินจากคนเหล่านี้ มักจะเปิดเผย ความจริงของธุรกิจที่ตัวเลขในงบการเงินไม่เคยบอก
อันเป็นประตูบานแรกสู่การค้นหาหุ้นคุณภาพ ที่จะเติบโตได้ในระยะยาว พร้อมทำให้เราเป็นนักลงทุน ที่เข้าใจธุรกิจอย่างแท้จริงในแบบฉบับคุณ Philip Fisher..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#PhilipFisher
Reference
- หนังสือ Common Stocks and Uncommon Profits and Other Writings : หุ้นสามัญกับกำไรที่ไม่สามัญ โดย Philip Fisher
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.