
สรุปหลักการลงทุน Strategy Capital กองทุนเฮดจ์ฟันด์ ของเจ้าของหลักคิด 7 Powers
1 ก.ค. 2025
หลักการวิเคราะห์ทางธุรกิจในโลกนี้ ก็มีอยู่มากมาย โดยที่ผ่านมา ก็มีนักคิดในด้านนี้ สร้างหลักคิดออกมาให้เราได้เรียนรู้กันอยู่ตลอด
ไล่มาตั้งแต่ SWOT Analysis, PESTEL, BCG Matrix และ Five Forces Model
ซึ่งบรรดาหลักคิดข้างต้นเหล่านี้เอง ก็มีนักลงทุนอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ใช้วิเคราะห์บริษัทที่จะลงทุนกัน
แต่รู้หรือไม่ว่า มีหลักคิดในการวิเคราะห์กลยุทธ์ธุรกิจ อยู่อย่างหนึ่ง ที่กำลังโด่งดังมากในยุคนี้
แถมเจ้าของหลักคิดนี้ ยังนำมันไปใช้ในการลงทุนของตัวเอง จนกลายเป็นทั้งนักลงทุนและผู้จัดการกองทุน ที่ทำผลตอบแทนได้ไม่น้อยเลย
หลักคิดนี้ชื่อว่า “7 Powers” ที่คิดค้นโดยคุณ Hamilton Helmer ผู้บริหารกองทุน Strategy Capital
หากสงสัยว่า เรื่องราวของ 7 Powers, กองทุน Strategy Capital และคุณ Hamilton Helmer มีความน่าสนใจ และมีประโยชน์ ในการนำไปปรับใช้กับการลงทุนของเรา อย่างไร
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ก่อนที่เราจะมารู้จักกับ Strategy Capital ก่อนอื่นเราต้องมารู้จักกับ คนที่อยู่เบื้องหลังกองทุนแห่งนี้ นั่นคือ คุณ Hamilton Helmer กันก่อน
คุณ Helmer จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเยล ในปี 1978 และเริ่มทำงานที่ Bain & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ระดับท็อปของโลก
การได้มาทำงานที่นี่ ทำให้เขาได้รู้จักกับคุณ John Rutherford ซึ่งในอีก 35 ปีข้างหน้า พวกเขาทั้งสองคน จะร่วมกันก่อตั้ง Strategy Capital ขึ้น
จากประสบการณ์ในการทำงานมาตลอดหลายปี ที่ได้คลุกคลีกับการวิเคราะห์กลยุทธ์ธุรกิจนี้เอง ก็ได้หล่อหลอมความคิดของคุณ Helmer ให้เฉียบคม
จนเกิดเป็นหนึ่งในสุดยอดหลักคิดการวิเคราะห์ธุรกิจ สไตล์คุณ Helmer ขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบันนี้ เราจะรู้จักในนาม “7 Powers”
7 Powers ก็คือเครื่องมือที่ไว้ใช้วิเคราะห์กลยุทธ์การทำธุรกิจของบริษัท เพื่อตรวจสอบว่า บริษัทมีความแข็งแกร่งอย่างไรบ้าง และมีดีพอที่จะเติบโต จนกลายเป็นผู้ชนะในระยะยาว ได้หรือไม่
ประกอบด้วย การวิเคราะห์ใน 7 ด้าน
- Power 1 : Counter Positioning
เป็นการวิเคราะห์ว่า บริษัทมีกลยุทธ์ที่แตกต่างจากคู่แข่งอย่างชัดเจนหรือไม่
- Power 2 : Cornered Resource
เป็นการวิเคราะห์ว่า บริษัทมีสินทรัพย์บางอย่างในการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัท โดยที่คู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนแบบได้หรือไม่
- Power 3 : Scale Economies
เป็นการวิเคราะห์ว่า บริษัทมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการทำธุรกิจ มากกว่าคู่แข่งเจ้าอื่นหรือไม่
- Power 4 : Network Economies
เป็นการวิเคราะห์ว่า บริษัทมีเครือข่ายผู้ใช้งาน ที่เมื่อยิ่งเติบโตขึ้น จะยิ่งสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้มากขึ้นหรือไม่
- Power 5 : Branding
เป็นการวิเคราะห์ว่า แบรนด์ของบริษัท มีความแข็งแกร่ง ประทับอยู่ในใจของลูกค้า ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของบริษัทหรือไม่
- Power 6 : Switching Cost
เป็นการวิเคราะห์ว่า ลูกค้าจะเปลี่ยนไปใช้บริการของคู่แข่งได้ยากหรือไม่
- Power 7 : Process Power
เป็นการวิเคราะห์ว่า บริษัทมีกระบวนการในการทำงาน ที่ส่งเสริมให้บริษัทสร้างประสิทธิภาพ และคุณภาพได้สูง โดยที่คู่แข่งลอกเลียนแบบได้ยากหรือไม่
โดย 7 Powers นี้ คุณ Helmer สามารถคิดออกมาได้ ตั้งแต่ปี 1994 แล้ว และเขาก็ใช้หลักคิดนี้ในการลงทุนส่วนตัว มาตั้งแต่ตอนนั้น
ซึ่งในหนังสือ 7 Powers : The Foundations of Business Strategy ที่ตีพิมพ์ในปี 2016 คุณ Helmer ได้บอกไว้ว่า
ตลอดระยะเวลา 21 ปี คือระหว่างปี 1994-2015 เขาสามารถทำผลตอบแทนแบบทบต้น จากการลงทุนส่วนตัว ได้เฉลี่ย 41.5% ต่อปี
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ก็คือ ถ้าเราฝากเงิน 1,000,000 บาท ให้คุณ Helmer ลงทุนให้ พอผ่านไป 21 ปี เงินก้อนนี้จะกลายเป็น 1,465,160,000 บาท..
หลังจากที่ได้สั่งสมประสบการณ์ชีวิต ผ่านการทำงานมาแล้วหลายอย่าง ตั้งแต่ด้านการเป็นที่ปรึกษา, อาจารย์มหาวิทยาลัย ไปจนถึงนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ
ในปี 2013 คุณ Helmer และคุณ Rutherford ก็ได้ร่วมกันก่อตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของตนเองขึ้นมา ในชื่อ “Strategy Capital”
โดยพื้นฐานการวิเคราะห์บริษัทที่จะลงทุน ของกองทุนแห่งนี้ ก็จะอยู่บนแนวคิดของ 7 Powers นั่นเอง
และสำหรับปรัชญาการลงทุนของกองทุน Strategy Capital สามารถสรุปเป็นแก่นออกมาได้เป็น 3 ข้อ ดังนี้
1. มองหาบริษัทที่คนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นคุณค่า
หลักการลงทุนข้อแรกก็คือ การมองหาบริษัทที่คนส่วนใหญ่ ยังมองไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริง
โดยบริษัทที่ Strategy Capital เลือกลงทุน มักจะเป็นบริษัทเติบโตเร็ว ที่ขนาดอาจจะยังไม่ใหญ่มากนัก และยังไม่มีกำไรให้เห็น
แต่จริง ๆ แล้ว เมื่อประเมินด้วยกรอบของ 7 Powers อย่างละเอียดพอ จะพบว่า บริษัทเหล่านี้ มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน และมีโอกาสจะกลายเป็นผู้ชนะในระยะยาวได้
ถ้าเราหาหุ้นประเภทนี้ให้เจอ ก่อนที่คนส่วนใหญ่จะมองเห็น และอดทนถือหุ้นได้นานพอ จนถึงวันที่บริษัทเติบโตขึ้นมาได้หลายเท่า เราก็จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนสูงมาก
2. ตัววัดมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท คือความสามารถในการสร้างกำไร ในอนาคต
ในโลกนี้มีบริษัทโตเร็วจำนวนมาก ที่ในช่วงแรก สามารถทำให้รายได้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
แต่อย่างไรก็ตาม รายได้ไม่ใช่ตัวบ่งชี้มูลค่าของบริษัท แต่เป็นความสามารถ ในการสร้างกำไรในอนาคตของบริษัทต่างหาก
และมีเพียงแค่ไม่กี่บริษัทเท่านั้น ที่สุดท้ายแล้ว พอถึงจุดหนึ่ง จะสามารถทำกำไรได้
ซึ่งตรงจุดนี้เอง ถ้าเราจะลงทุนในสไตล์แบบ Strategy Capital ที่เน้นบริษัทเติบโตเร็ว ที่ยังไม่มีกำไร เราจะต้องวิเคราะห์ให้ละเอียด จนมั่นใจได้ว่า ในอนาคตสักวันหนึ่ง บริษัทนี้จะแข็งแกร่งมากพอ จนทำกำไรได้จริง
3. ลงทุนแบบมุ่งเน้น และลงทุนแบบระยะยาว
บริษัทเติบโตที่มีคุณสมบัติ ผ่านเกณฑ์ตรวจสอบจาก 7 Powers จริง ๆ แล้ว มีอยู่น้อยมาก ๆ
ในชีวิตนี้ เราอาจจะเจอแค่ไม่กี่บริษัทเท่านั้น แต่พอเราได้เจอแล้ว ในพอร์ตของเรา ก็ควรจะถือหุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนเหล่านี้ ไปให้นานที่สุดเท่าที่คุณภาพของบริษัทยังคงดีอยู่
แน่นอนว่าในระยะสั้น พอร์ตที่ถือหุ้นจำนวนน้อยตัวแบบนี้ จะมีความผันผวนหนักมาก แต่ในระยะยาว ถ้าเราเลือกหุ้นได้ถูกตัว เราก็อาจจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงมาก เหมือนกับที่คุณ Helmer ทำได้
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงเข้าใจความเป็นมาของคุณ Hamilton Helmer รวมถึงหลักคิดการวิเคราะห์ธุรกิจที่เขาสร้างขึ้นอย่าง 7 Powers และกองทุน Strategy Capital ที่นำวิธีคิดแบบนี้มาใช้งานจริง กันดีขึ้นแล้ว
ดังนั้น จึงจะขอสรุปหลักการของคุณ Hamilton Helmer สั้น ๆ อีกครั้งแบบนี้ว่า
กองทุน Strategy Capital ที่เขาเป็นผู้จัดการกองทุน ได้ใช้หลักการ 7 Powers เพื่อมองหาบริษัทคุณภาพดี มีโอกาสจะเป็นผู้ชนะในอนาคต โดยเป็นบริษัทที่คนส่วนใหญ่ยังมองไม่ออก
จากนั้น Strategy Capital จะถือหุ้นคุณภาพดีเหล่านี้ แค่ไม่กี่ตัวเท่านั้น แล้วทนผ่านความผันผวนที่สูงมากในระยะสั้น จนได้ผลตอบแทนจำนวนมาก ในระยะยาวในตอนท้าย..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#7Powers
References
-หนังสือ 7 Powers: The Foundations of Business Strategy (2016) โดย Hamilton Helmer