
สรุปไอเดียจาก Fooled by Randomness หนังสือที่ชวนคิด ว่าเราเก่งจริง หรือแค่พึ่งโชค
24 มิ.ย. 2025
ราคาหุ้นหลาย ๆ ตัวตอนนี้ที่มีรายชื่อเซียนหุ้นถือไว้อยู่ ถ้าเราลองเทียบกับราคาเมื่อตอนต้นปีดู ก็จะเห็นว่าปรับตัวลงมาจนใช้คำว่า “ลงจนต้องร้องขอชีวิต”
เพราะต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันนั้น มีความท้าทายมาก จนถึงขนาดคนที่ได้ชื่อว่าเป็นเซียนหุ้น ก็ยังต้องเจอกับความยากลำบากในการลงทุน
เหตุการณ์แบบนี้เอง เหมาะสมมาก ที่เราควรจะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ความสำเร็จที่ผ่านมาของเรา มาจากความสามารถจริง ๆ ไม่ใช่แค่เราโชคดีเท่านั้น ?”
ด้วยการอ่านหนังสือเล่มนี้ ที่ชื่อว่า Fooled by Randomness เขียนโดยคุณ Nassim Taleb
อดีตเทรดเดอร์, อดีตผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์, นักวิชาการ, นักปรัชญา และนักเขียนหนังสือขายดีระดับตำนาน
หากสงสัยว่า แก่นความคิดที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้ มีอะไรบ้าง และจะช่วยเราให้อยู่รอดปลอดภัยในโลกการลงทุน ที่น่าหวั่นเกรงนี้ ได้อย่างไร
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
อย่างที่เราคงพอรู้กันมาบ้างว่า คุณ Nassim Taleb เป็นนักคิดอีกคนหนึ่ง ที่ความคิดของเขา มีอิทธิพลต่อโลกนี้เป็นอย่างมาก
โดยเขาได้นำเสนอแนวคิดของเขา ผ่านหนังสือหลายเล่ม เช่น The Black Swan, Antifragile และ Skin in the Game
แต่ก่อนที่หนังสือเหล่านี้จะถือกำเนิดขึ้น ก็มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ซึ่งเขาได้เขียนมันไว้เป็นเล่มแรก เพื่อปูทางให้ผู้คนได้เข้าใจพื้นฐานทางความคิดของเขาคร่าว ๆ ก่อนที่จะไปอ่านเล่มอื่น
หนังสือเล่มแรกนี้ ก็คือ “Fooled by Randomness” นั่นเอง
โดยแก่นของหนังสือเล่มนี้ เป็นการตั้งคำถามของคุณ Taleb ต่อเรื่องราวความสำเร็จของผู้คนว่า
“มาจากความสามารถจริง หรือแค่โชคดีกันแน่ ?”
ในมุมมองของคุณ Taleb เมื่อได้วิเคราะห์เรื่องนี้อย่างจริงจังมาตลอดหลายปี ก็พบว่า
คนที่เราเห็นว่าเก่งมาก จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ได้เก่งอะไรเลยก็ได้ แต่ที่ผ่านมาก็แค่โชคดี นั่นก็เพราะว่า โลกนี้กลับมีเรื่องของ “ความสุ่ม (Random)” เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ
คนที่เราเห็นว่าประสบความสำเร็จคนนั้น ก็อาจจะแค่บังเอิญสุ่มได้ความโชคดี และชีวิตก็ประสบความสำเร็จในช่วงเวลาหนึ่ง..
แต่ความสำเร็จจากโชคดีนั้น คุณ Taleb ก็มองว่า มันไม่ได้อยู่แบบยั่งยืน เพราะเมื่อวันที่โชคของเราหมดลง ชีวิตของเราก็อาจจะต้องคืนความสำเร็จที่ได้มานั้นกลับไป
ซึ่งในขณะเดียวกัน คุณ Taleb ก็บอกว่า คนที่ชีวิตยังไม่ได้ประสบความสำเร็จ ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่า พวกเขาไม่เก่งแต่อย่างใด
แต่อาจจะมีเรื่องของโชคหรือความสุ่ม เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ชีวิตของพวกเขาในตอนนี้ ไม่ได้ก้าวหน้าไปไหนไกลก็ได้
ซึ่งในการจะวัดว่า ความสำเร็จของคนคนหนึ่งนั้น มาจากความสามารถของเขาเอง หรือมาจากโชคดีกันแน่ ก็เป็นเรื่องที่วัดได้ยาก และยังเป็นเรื่องที่ทุกวันนี้ ก็ยังมีคนถกเถียงกันอยู่ไม่จบสิ้น
แต่การที่เราวัดเรื่องแบบนี้ออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้เป๊ะ ๆ ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน เพราะจะทำให้เรา ยิ่งต้องมีความถ่อมตัว และระมัดระวังในการใช้ชีวิต ให้มากยิ่งขึ้น
เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยจริง ๆ ว่า ความสามารถของเราจะส่งเราไปได้ไกลอีกแค่ไหน และวันไหนที่โชคชะตา จะทอดทิ้งเราไป..
ซึ่งแก่นความคิดสำคัญจาก Fooled by Randomness เอง ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนของเรา ได้เหมือนกัน
โดยสามารถสรุปออกมาเป็นหลักการ ได้ 4 ข้อ ดังนี้
1. ระวังเรื่อง Lucky Fool
Lucky Fool หรือแปลเป็นไทยว่า “คนโง่ที่โชคดี”
โดยคุณ Taleb ใช้คำนี้เรียกกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จได้จากโชค แต่หลงเข้าใจผิดไปว่า มาจากความสามารถของตนเอง
ในช่วงระยะเวลาหนึ่งสั้น ๆ เราคงจะเห็นคนบางคน หรือผู้จัดการกองทุนบางคน ที่ดูเก่งมาก เพราะทำผลตอบแทนจากการลงทุนได้สูงมาก
คนเหล่านี้บางคน สามารถปั้นพอร์ตจากเงินเริ่มต้นน้อย ให้กลายมาเป็นพอร์ตขนาดใหญ่ได้ โดยใช้เวลาไม่นาน
แต่คุณ Taleb กลับมองว่า คนกลุ่มนี้ หากเราไปจี้ถามและสังเกตถึงระบบการคิดของพวกเขาดู ก็จะพบว่า จริง ๆ แล้ว พวกเขาอาจจะไม่ได้เก่งอะไรเลย
แต่กลับเป็นแค่พวกคนที่โชคดี ที่ไม่รู้ว่าตัวเองประสบความสำเร็จมาได้ ก็เพราะโชคล้วน ๆ
โดยคุณ Taleb แนะนำว่า เราต้องระมัดระวังให้ดี อย่ากลายเป็นคนพวกนี้ จงถ่อมตัวไว้อยู่เสมอ และระวังตัวเองให้ดี ในตอนที่เรากำลังโชคดีด้วยเช่นกัน..
2. ระวังเรื่อง อคติของผู้อยู่รอด
อคติของผู้อยู่รอด หรือ Survivorship Bias ก็คือ การที่เรามองเห็นแต่คนที่รอดมาได้ หรือคนที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น
ทำให้เกิดอคติบังตาเรา จนเราพากันคิดไปเองว่า ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จให้ได้แบบคนคนนั้น เราก็จะต้องทำแบบเดียวกัน
แต่ความเป็นจริงแล้ว ในโลกนี้เอง ก็อาจจะมีคนที่เคยทำแบบเดียวกัน แต่กลับล้มเหลว และต้องหายไปอย่างเงียบ ๆ โดยที่ไม่เคยได้เล่าให้ใครฟัง อยู่เป็นจำนวนไม่น้อย
ซึ่งตัวอย่างในโลกการลงทุนที่ผ่านมา ก็อย่างเช่น มีคนแค่ไม่กี่คน ลงทุนแบบเสี่ยง ๆ ด้วยการถือหุ้นแบบ All In และใช้เงินกู้มาร์จินเต็มจำนวน
ในวันที่ประสบความสำเร็จ หุ้นขึ้นไปหลายเท่าตัว พวกเขาก็สามารถยกระดับตัวเองกลายเป็นคนที่รวยมาก แถมยังมีคนยกเป็นต้นแบบให้กับนักลงทุนรุ่นหลังด้วย
แต่ในความจริงแล้ว ก็อาจจะมีคนที่ทำเหมือนกันอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว หรือมีหนี้ติดตัวเลย
ซึ่งคนพวกนี้เอง กลับไม่ได้ออกมาเล่าเป็นข่าวดัง ให้คนสนใจ และไม่มีใครมองเห็นเลยว่า เหล่าคนผู้ผิดพลาดนี้เอง คือจุดจบของคนส่วนใหญ่ที่ลงทุนด้วยวิธีเสี่ยง ๆ เพียงแค่เขาไม่ได้โชคดีรอดมาได้ก็เท่านั้น
3. ระวังเหตุการณ์แบบ Black Swan
Black Swan คือทฤษฎีแรกที่สร้างชื่อให้กับคุณ Taleb โดยแก่นของทฤษฎีนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
- เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ว่าจะเกิดเมื่อไร
- เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรง
- และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มนุษย์มักจะพยายามหาเหตุผลมาอธิบายว่า ทำไมเราจึงสามารถคาดการณ์ได้
เหตุการณ์แบบ Black Swan ในโลกการลงทุน ก็อย่างเช่น ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ, ปัญหาสงคราม หรือปัญหาโรคระบาด ที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกต่ำ จนส่งผลให้มูลค่าพอร์ตการลงทุนของเราต้องติดลบ
แต่พอเรารู้ว่า เหตุการณ์แบบ Black Swan ไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ว่า จะเกิดขึ้นตอนไหน วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือ ก็คือการสร้างเกราะป้องกันในการลงทุน ที่จะทำให้พอร์ตของเราไม่แตก
และสามารถกลับมาได้เสมอ เมื่อเหตุการณ์แบบ Black Swan ผ่านพ้นไปแล้ว
สำหรับวิธีในการป้องกันของนักลงทุนทั่ว ๆ ไป ก็อย่างเช่น การไม่ใช้เงินกู้มาร์จิน, การไม่ลงทุนในหุ้นที่เสี่ยงเกินไป รวมถึงการรู้จักกระจายความเสี่ยง อย่างเหมาะสมด้วย
4. การอยู่รอด อาจจะสำคัญกว่าการชนะ
และสุดท้ายก็คือ แนวคิดที่เรียบง่าย แต่สำคัญมากที่สุดเลยจากคุณ Taleb
เพราะเขาเองได้ย้ำอยู่เสมอว่า “ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนั้น การอยู่รอดให้ได้ยาวนาน สำคัญยิ่งกว่า ชัยชนะในช่วงสั้น ๆ”
อย่างในโลกของการลงทุนเอง ก็มีคนอยู่มากมาย ที่ทำผลตอบแทนได้สูงมากในช่วงเวลาหนึ่ง
แต่สุดท้าย พอร์ตก็ต้องพังพินาศ จากความมั่นใจที่มากเกินไป และลืมเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความไม่แน่นอน
ดังนั้นแล้ว วิธีที่เรียบง่าย ปลอดภัย และยั่งยืน สำหรับนักลงทุน ก็อาจจะไม่ใช่การหาวิธีเอาชนะตลาด ทำผลตอบแทนให้ได้มากที่สุด
แต่กลับเป็น การออกแบบพอร์ตการลงทุนให้ทนทาน สามารถผ่านเหตุการณ์เลวร้าย และอยู่รอดปลอดภัย จนทำผลตอบแทนระดับสมเหตุสมผล ทบต้นไปได้อีกยาวนาน
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงเข้าใจกันดีขึ้นแล้วว่า แก่นความคิดสำคัญของคุณ Nassim Taleb ผ่านหนังสืออันทรงคุณค่าที่ชื่อ Fooled by Randomness นั้น มีประโยชน์อะไรบ้าง
แม้หนังสือเล่มนี้เอง จะออกมาเกือบ 25 ปีแล้ว แต่หากเราลองคิดตามดูให้ดี เราก็คงจะพบความจริงไม่ต่างกันว่า หลักคิดเหล่านี้ ยังสามารถนำมาใช้ในปัจจุบัน ได้อยู่เสมอเลย
เพราะในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนแห่งนี้ สิ่งที่เราควรจะยึดไว้ให้มั่น อาจจะไม่ใช่แค่ความมั่นใจ ในความสามารถของเราเอง
แต่คือการมีสติ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และการออกแบบชีวิตของเราให้อยู่รอดปลอดภัยต่อไป ไม่ว่าโชคชะตาจะเข้าข้างเราหรือไม่ก็ตาม
และหากวันหนึ่ง ถ้าโชคของเราหมดลง อย่างน้อยที่สุด เราก็น่าจะยัง “ยืนหยัดอยู่ต่อไป” และ “เริ่มต้นใหม่” ได้อีกครั้ง..
#ลงทุน
#หลักการลงทุน
#BlackSwan
Reference
- หนังสือ Fooled by Randomness: The Hidden Role of Chance in Life and in the Markets (2001) โดย Nassim Nicholas Taleb