อธิบาย วงจรเงินสด ผ่านร้านขายของชำ คุณยายมี

อธิบาย วงจรเงินสด ผ่านร้านขายของชำ คุณยายมี

25 เม.ย. 2025
ไม่ว่าเจ้าของธุรกิจคนไหนก็อยากได้เงินสดมากองอยู่ตรงหน้า มากกว่าส่งสินค้าไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะได้เงินวันไหน 
เพราะเงินสดนั้น เป็นเสมือนเลือดที่หล่อเลี้ยงกิจการของเรา ให้มีชีวิตรอดอยู่ต่อไปได้ โดยไม่ต้องพบเจอกับปัญหาการขาดสภาพคล่องจนล้มละลาย หรือไม่มีเงินซื้อสินค้าเข้ามาเติม 
ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยทำให้ เจ้าของกิจการสามารถวิเคราะห์และมองเห็นภาพรวมการไหลเข้าและออกของเงินสดได้ นั่นก็คือ “วงจรเงินสด” นั่นเอง
แล้ววงจรเงินสด สำคัญอย่างไรกับเจ้าของกิจการ และมีวิธีการใช้งานอย่างไร ?
MONEY LAB จะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ผ่านเรื่องราวร้านขายของชำเล็ก ๆ ของคุณยายมี
ร้านขายของชำของคุณยายมี ไม่ได้ต่างอะไรจากร้านขายของชำทั่วไป ที่จะมีทั้งสินค้าอุปโภคอย่าง แชมพู สบู่ ยาสีฟัน และสินค้าบริโภคอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง เครื่องปรุง ไปจนถึงเครื่องดื่มต่าง ๆ 
รายได้หลักของร้านชำของคุณยาย ก็จะมาจากการขายสินค้าต่าง ๆ ให้กับลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้อยู่อาศัยในหอพักของลูกชาย ที่คุณยายไปเปิดร้านอยู่ข้างใต้
แน่นอนว่าสินค้าแต่ละอย่างในร้านของคุณยาย ก็จะมีระยะเวลาในการขายออก ที่แตกต่างกันออกไป 
สินค้าบริโภคประจำวัน อย่างไข่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง หรือขนมปัง เอามาเติมได้ไม่ถึงวันก็มีคนมาซื้อ แต่บางสินค้า เช่น กะละมัง หรือไม้ถูพื้น ก็อาจใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะมีคนมาซื้อไป 
สิ่งนี้เป็นองค์ประกอบแรกของวงจรเงินสด ที่เรียกว่า “ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย” ซึ่งเป็นสิ่งที่บอกว่า เฉลี่ยแล้วของต่าง ๆ บนชั้นวางในร้านคุณยายมี จะตั้งอยู่นานกี่วัน ถึงจะมีคนมาซื้อไป  
โดยคุณยายมี ก็สามารถใช้สูตรคำนวณเพื่อดูภาพรวมได้จาก 
ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย = สินค้าคงเหลือ / ต้นทุนขาย x 365
ที่ต้องคูณกับ 365 เพื่อแปลงเป็นจำนวนวันนั้น ก็เป็นเพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว วงจรเงินสดนั้น จะวิเคราะห์กันในระดับปี 
ซึ่งถ้าอยากให้ข้อมูลอัปเดต ก็สามารถคำนวณโดยใช้ข้อมูล 12 เดือนล่าสุดได้ 
ถึงตรงนี้เราสมมติว่า สินค้าแต่ละอย่างในร้านคุณยายมี จะวางอยู่บนชั้นวางประมาณ 10 วัน ก่อนจะมีคนซื้อไป 
อยู่มาได้สักพัก ร้านขายของชำของคุณยายมี ก็ใช่ว่าจะมีแต่คนที่พร้อมซื้อสินค้าด้วยเงินสดเท่านั้น เพราะลูกค้าประจำบางคนก็อาจจะขอ “เซ็น” สินค้ากับคุณยายไว้ แล้วค่อยเอาเงินมาจ่ายทีหลัง 
อย่างเช่น คุณลุงเริญ เจ้าของร้านอาหารตามสั่งที่อยู่ไม่ไกล ที่มักจะมาขอเอาเครื่องดื่มจากคุณยายไปดื่มก่อน แล้วภรรยาของคุณลุง ก็จะมาตามจ่ายให้ในอีกไม่กี่วัน
หรือ คุณนัท ฟรีแลนซ์หนุ่ม ที่มักจะมาขอบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋องแพ็กใหญ่จากคุณยาย อยู่บ่อย ๆ เพื่อไว้ใช้กินรอลูกค้าจ่ายค่าจ้างมา แล้วจึงค่อยนำเงินมาจ่ายคืนคุณยายในอีกอาทิตย์ต่อมา  
สิ่งนี้คือองค์ประกอบที่ 2 ของวงจรเงินสดที่เรียกว่า “ระยะเวลาการเก็บหนี้เฉลี่ย” ซึ่งเป็นสิ่งที่บอกว่า คุณยายมีจะใช้เวลานานแค่ไหน ในการเก็บเงินจากเหล่าลูกค้าประจำที่เซ็นไว้กับร้านค้าของคุณยาย 
โดยคุณยายมีก็สามารถคำนวณหา เพื่อดูว่าภาพรวมแล้วตัวเองใช้เวลาเก็บเงินจากลูกค้าเหล่านี้ ที่ในทางธุรกิจเรียกว่า “ลูกหนี้การค้า” เฉลี่ยแล้วประมาณกี่วัน ได้จากสูตร 
ระยะเวลาการเก็บหนี้เฉลี่ย = ลูกหนี้การค้า / รายได้ x 365
ตรงนี้เราจะสมมติว่า เฉลี่ยแล้วคุณยายใช้เวลาทวงเงินจาก คุณลุงเริญ, คุณนัท และลูกค้าประจำอื่น ๆ ที่เซ็นไว้กับคุณยาย ประมาณ 6 วัน 
อยู่มาวันหนึ่ง แชมพู สบู่ ยาสีฟัน บนชั้นวางเริ่มจะเหลือน้อยลง คุณยายจึงต้องโทรไปหา เจ๊มิ่ง เจ้าของร้านค้าส่งเจ้าประจำที่คุณยายสั่งสินค้าด้วยมานานหลายปี
ด้วยความที่ค้าขายกันมานาน เจ๊มิ่งก็ใจดี ให้คุณยายเอาสินค้าไปขายก่อนเลย แล้วอีกอาทิตย์หนึ่ง ค่อยจ่ายเงิน 
และเมื่อสินค้าอื่น ๆ ในร้านหมด คุณยายก็ต้องทำแบบนี้กับร้านค้าส่งของสินค้านั้น ๆ เช่นกัน เพียงแต่ว่าบางร้านที่เป็นรายใหญ่มาก ก็อาจจะไม่ได้ใจดีให้คุณยายนำสินค้าไปขายก่อนได้ แบบร้านของเจ๊มิ่ง
ระยะเวลาที่แต่ละร้านกำหนดให้คุณยายจ่ายค่าสินค้า หลังจากได้รับสินค้าไปแล้ว ก็คือองค์ประกอบส่วนสุดท้ายของวงจรเงินสด นั่นก็คือ “ระยะเวลาชำระหนี้เฉลี่ย” 
โดยคุณยาย ก็สามารถดูภาพรวมว่าตัวเองใช้เวลาในการชำระหนี้ให้ร้านค้าส่งแต่ละเจ้า ที่ในทางธุรกิจเรียกว่า “เจ้าหนี้การค้า” เฉลี่ยแล้วประมาณกี่วัน จากสูตร 
ระยะเวลาชำระหนี้เฉลี่ย = เจ้าหนี้การค้า / ยอดซื้อเชื่อ x 365
ในหลายครั้งตัวเลขยอดซื้อเชื่อ ก็จะใช้ต้นทุนขายแทน โดยเฉพาะในมุมนักลงทุน ที่วิเคราะห์งบการเงินของบริษัท เพราะบริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้แยกยอดซื้อเชื่อ ออกมาให้ต่างหากในงบการเงิน 
ตรงนี้เราสมมติให้คุณยายมีต้องจ่ายเงินค่าสินค้าให้ร้านค้าส่งต่าง ๆ หลังได้สินค้ามาแล้ว ประมาณ 3 วัน 
จากทั้งหมดนี้เอง เราก็จะสามารถวิเคราะห์ตัวเลขวงจรเงินสดได้แล้ว โดยสูตรการคำนวณวงจรเงินสดก็คือ 
วงจรเงินสด = ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย + ระยะเวลาการเก็บหนี้เฉลี่ย - ระยะเวลาชำระหนี้เฉลี่ย
เพราะฉะนั้น ร้านขายของชำของคุณยายมี ที่มี 
- ระยะเวลาขายสินค้าเฉลี่ย 10 วัน 
- ระยะเวลาการเก็บหนี้เฉลี่ย 6 วัน 
- ระยะเวลาชำระหนี้เฉลี่ย 3 วัน
จะมีวงจรเงินสด เท่ากับ 10 + 6 - 3 = 13 วัน 
หรือก็คือ ตั้งแต่ที่คุณยายมี ลงทุนควักกระเป๋าจ่ายค่าสินค้าให้ร้านค้าส่งไป จะต้องใช้เวลากว่า 13 วัน หรือเกือบ ๆ 2 อาทิตย์เลย กว่าสินค้าเหล่านั้น จะวนกลับมาเป็นเงินสดในกระเป๋าของคุณยายมีอีกครั้ง
จะเห็นได้ว่า กว่าที่คุณยายจะมีเงินสดเข้ามาในกระเป๋านั้น ต้องรอนานถึงเกือบ 2 อาทิตย์เลย แต่คุณยายมีเอง ก็ต้องใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเช่นกัน รวมถึงอาจจะมีเรื่องฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินสำหรับในร้าน 
เช่น หลอดไฟในร้านแตก, เครื่องคิดเงินพัง หรือถึงรอบเวลาจ่ายค่าน้ำค่าไฟแล้ว เป็นต้น  
ถ้าหากคุณยายมี ไม่มีเงินสดสำรองอยู่เลย คุณยายมีก็จำเป็นต้องควักเนื้อตัวเอง หรือหยิบยืมเงินจากคนอื่น เพื่อให้ร้านของคุณยายอยู่ต่อไปได้ 
การมีเงินสดสำรอง และการวิเคราะห์วงจรเงินสด เพื่อให้เห็นภาพการไหลเข้าและออกของเงินสดในกิจการนั้น สำคัญมาก ๆ 
ซึ่งถ้าหากคุณยายต้องการให้วงจรเงินสดของตัวเองสั้นลง เพื่อให้เงินสดไหลกลับเข้ามาในกระเป๋าเร็วขึ้น สิ่งที่คุณยายมี อาจจะสามารถทำได้ก็คือ 
- เลิกสั่งสินค้าที่ใช้เวลานานกว่าจะขายได้มาเพิ่ม เพื่อให้ขายสินค้าออกได้เร็วขึ้น 
- แข็งใจปฏิเสธไม่ให้ลูกค้าประจำที่คืนเงินช้า ซื้อของแบบเซ็นไว้ก่อน 
- พยายามเจรจากับร้านค้าส่งต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ให้คุณยายจ่ายเงินคืนช้าลงอีกหน่อย 
และถ้าหากต่อรองเวลาจ่ายคืนค่าสินค้าได้นานมาก ๆ ในขณะที่ขายสินค้าออก พร้อม ๆ กับเก็บเงินจากลูกค้าที่เซ็นไว้ได้เร็วขึ้น ก็จะสามารถทำให้วงจรเงินสดของร้านขายของชำของคุณยายมีนั้น ติดลบ 
เช่น คุณยายมี ใช้เวลาขายสินค้าออกได้เร็วขึ้นเป็น 5 วัน เลิกให้ลูกค้าประจำซื้อสินค้าโดยการเซ็น พร้อมต่อรองกับร้านค้าส่ง จนสามารถยืดระยะเวลาจ่ายค่าสินค้าให้ร้านค้าส่ง ให้นานขึ้นเป็น 7 วัน
วงจรเงินสดใหม่ของคุณยายมี ก็จะเท่ากับ 5 + 0 - 7 = -2 วัน
หมายความว่า คุณยายจะได้เงินสดเข้ามาในกระเป๋าก่อน 2 วัน แล้วถึงได้จ่ายเงินให้กับร้านค้าส่ง ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ คุณยายอาจจะไม่ต้องสำรองเงินสดไว้มากนัก เพราะมีเงินเข้ามาอยู่ในกระเป๋าก่อนแล้ว  
จะเห็นได้ว่า วงจรเงินสดนั้น ถือเป็นเครื่องมือที่ไม่ว่าธุรกิจในระดับไหน ก็ต้องใช้เพื่อให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวของเงินสด ที่จะเข้าและออกมาในกิจการของตัวเอง 
เห็นได้จากธุรกิจที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น ก็ยังคงต้องวิเคราะห์วงจรเงินสด เพื่อดูว่าในภาพรวมแล้ว ใช้เวลานานแค่ไหน กิจการถึงจะมีเงินสดเข้ามา ไม่ต่างจากที่คุณยายมีในเรื่องราวของเรากำลังทำอยู่เลย
ทำให้ถ้าหากเราเข้าใจวงจรเงินสดแล้ว ในฐานะเจ้าของกิจการ เราก็จะรับรู้ได้ว่าเราควรมีเงินสำรองหรือไม่ และมีอะไรที่เราต้องแก้ไข ให้เงินสดใช้เวลาไหลเข้ามาในกิจการได้เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้ขาดสภาพคล่อง 
ส่วนในฐานะนักลงทุน ก็จะทำให้เรามองโมเดลธุรกิจของบริษัทได้อย่างคร่าว ๆ พร้อมกับประเมินได้ว่าบริษัทนี้ มีแนวโน้มจะขาดสภาพคล่องหรือไม่
เพราะในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่จะตัดสินว่ากิจการจะอยู่รอดหรือไม่ ไม่ใช่ตัวเลขกำไรขาดทุนที่บางบริษัทสามารถที่จะปั้นแต่งได้ 
แต่เป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างการทำธุรกิจแล้วได้เงินสดกลับเข้ากระเป๋ามาได้จริง ๆ มากแค่ไหนต่างหาก.. 
#ธุรกิจ
#โมเดลธุรกิจ
#วงจรเงินสด
References 
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.