
ใครคือผู้ผลิต โรลเลอร์ โคสเตอร์ ขนมรูปทรงคล้ายแหวน ที่เด็กไทย ชอบเอามาเสียบนิ้ว
22 เม.ย. 2025
ในช่วงวัยเด็กของใครหลายคน น่าจะเคยเอาขนมโรลเลอร์ โคสเตอร์ มาเสียบนิ้วเล่น ๆ
แต่รู้ไหมว่า ขนมที่ชื่อออกไปทางฝรั่งอย่าง โรลเลอร์ โคสเตอร์ ไม่ใช่ขนมที่นำเข้ามาจากยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา
เพราะบริษัทเจ้าของแบรนด์ขนมนี้ มาจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา คือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งบริษัทแห่งนี้มีรายได้รวมเกือบแตะระดับแสนล้านบาทเลยทีเดียว
แล้วบริษัทนี้มีความเป็นมาอย่างไร ? เข้ามาขายขนมโรลเลอร์ โคสเตอร์ในไทยตั้งแต่ตอนไหน ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ถ้าเราลองพลิกดูด้านหลังซองขนมโรลเลอร์ โคสเตอร์ เราจะเจอชื่อบริษัท Universal Robina Corporation ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ และผู้ผลิตขนมโรลเลอร์ โคสเตอร์
จุดเริ่มต้นของอาณาจักรธุรกิจแสนล้านแห่งนี้ เกิดขึ้นจากนักธุรกิจชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีน คือคุณ John Robinson Lim Gokongwei, Jr.
คุณ John Gokongwei เริ่มต้นธุรกิจนำเข้า-ส่งออก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยการนำเข้าสินค้าหลากหลายประเภทจากสหรัฐฯ เข้ามาขายในฟิลิปปินส์
แต่ทำไปได้สักพัก เขากลับรู้สึกว่าธุรกิจนำเข้า-ส่งออก มีอัตรากำไรค่อนข้างต่ำ เขาเลยจัดตั้งบริษัท Universal Corn Products (UCP) เพื่อผลิตน้ำตาลกลูโคส และแป้งข้าวโพด
ในช่วงแรกธุรกิจนี้ก็ไปได้ดี แต่ต่อมาเริ่มมีคู่แข่งจากต่างชาติเข้ามาแข่งขันด้วย ทำให้คุณ John Gokongwei ต้องเริ่มมองหาธุรกิจใหม่อีกครั้ง
คราวนี้ เขามีวิสัยทัศน์ที่จะปลุกปั้นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มให้โด่งดังออกไปสู่ระดับโลกให้ได้
เขาจึงก่อตั้งบริษัทใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในปี 1961 นั่นคือ Consolidated Food Corporation (CFC)
โดยมีสินค้าเรือธงอย่าง “Blend 45” ซึ่งเป็นแบรนด์เมล็ดกาแฟ Blend ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของฟิลิปปินส์ในยุคนั้น
ต่อมาในปี 1966 คุณ John Gokongwei ได้ตั้งบริษัท Universal Robina Corporation (URC) ขึ้นมา แล้วจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยการรวมบริษัท UCP และ CFC เข้ามาไว้ภายใต้บริษัท URC
ซึ่งบริษัท URC นี้เองที่เป็นผู้คิดค้นขนมขบเคี้ยวหลายแบรนด์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า Jack ‘n Jill ที่คนไทยน่าจะรู้จัก
ไม่ว่าจะเป็น คุกกี้ช็อกโกแลต แบรนด์ครีมโอ, ลูกอม แบรนด์ไดนาไมท์, เวเฟอร์ช็อกโกแลตสอดไส้ครีม แบรนด์ทิวลี่ทวิน, ขนมข้าวโพดทอดกรอบ แบรนด์โรลเลอร์ โคสเตอร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ซึ่งนอกจากขนมขบเคี้ยวแล้ว URC ยังเป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรานิสชิน นิสชินคัพนูดเดิล และขนม แบรนด์คาลบี้ ผ่านการร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น และวางขายในฟิลิปปินส์
เมื่อมีสินค้าหลากหลายแบรนด์มากขนาดนี้อยู่ในมือ คุณ John Gokongwei ก็คิดการใหญ่ หวังเติบโตไปต่างประเทศตามเป้าหมายที่วาดฝันไว้
จึงมีการจัดตั้งบริษัทย่อยในต่างประเทศแห่งแรกในปี 1971 ที่ฮ่องกง เพื่อใช้เป็นสำนักงานขาย
ตามมาด้วยการสร้างโรงงานที่ต่างประเทศแห่งแรกที่ประเทศมาเลเซีย ในปี 1984
และต่อมาในปี 1992 บริษัทก็มีการจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศไทยคือ URC (Thailand) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทย่อยในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ด้วยทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท
เราลองมาดูผลประกอบการของบริษัท URC ประเทศไทยกัน
- ปี 2021 รายได้ 6,364 ล้านบาท กำไรสุทธิ 386 ล้านบาท
- ปี 2022 รายได้ 6,730 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 447 ล้านบาท
- ปี 2023 รายได้ 6,479 ล้านบาท กำไรสุทธิ 85 ล้านบาท
โดยปัจจุบัน URC บริษัทแม่ ทำการตลาดและส่งสินค้าออกไปขายมากถึง 50 ประเทศทั่วโลก
ทีนี้เราลองมาดูผลประกอบการของบริษัท URC บริษัทแม่ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์กัน
- ปี 2021 รายได้ 70,837 ล้านบาท กำไร 14,684 ล้านบาท (มีกำไรจากธุรกิจที่เลิกกิจการไปแล้วจำนวน 6,832 ล้านบาท)
- ปี 2022 รายได้ 90,794 ล้านบาท กำไร 8,764 ล้านบาท
- ปี 2023 รายได้ 95,920 ล้านบาท กำไร 7,694 ล้านบาท
จากผลประกอบการของทั้ง 2 บริษัท จะเห็นได้ว่ารายได้จากประเทศไทย มีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 7% - 9% ของรายได้รวมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
และที่น่าสนใจก็คือ รายได้จากต่างประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของรายได้รวมของบริษัท
หมายความว่า รายได้จากประเทศไทย คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากต่างประเทศของบริษัท URC เลยทีเดียว
แต่ก็ต้องหมายเหตุไว้นิดหนึ่งว่า บริษัท URC ประเทศไทย มีการถือหุ้นในบริษัท URC ในประเทศพม่าด้วย จึงอาจมีการรวมรายได้จากการขายสินค้าที่พม่าเข้ามาด้วย
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลนี้เราก็ยังพอจะอนุมานได้ว่า ประเทศไทยเป็นตลาดที่ใหญ่ และสำคัญกับ URC เจ้าของขนมรูปทรงคล้ายแหวน ที่เด็กไทยหลายคนเคยเอามาเสียบนิ้วเล่นอย่างไม่ต้องสงสัยเลย..
#ธุรกิจ
#ประวัติธุรกิจ
#URC
References
-รายงานประจำปี 2023 ของบริษัท Universal Robina Corporation
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า