ประกันบำนาญ vs RMF 2 เครื่องมือเพื่อการเกษียณ แบบไหนดีกว่ากัน

ประกันบำนาญ vs RMF 2 เครื่องมือเพื่อการเกษียณ แบบไหนดีกว่ากัน

11 มิ.ย. 2024
การมีเงินออมเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ถือเป็นเป้าหมายที่เราควรจะต้องทำให้ได้ ในทุกวันนี้ 
เพราะการจะหวังพึ่งพารายได้จากสวัสดิการสังคม และภาครัฐ เพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอ ที่จะทำให้เราอยู่ได้อย่างสุขสบาย
ทำให้หลาย ๆ คน จำเป็นต้องหาเครื่องมือไว้สำหรับเตรียมการเกษียณ และ 2 เครื่องมือที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ก็คือ ประกันบำนาญ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ RMF นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 เครื่องมือนี้ ก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ซึ่งถ้าหากคุณสงสัย ว่าเครื่องมือการเกษียณเหล่านี้ เลือกอย่างไหนดีกว่ากัน ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ก่อนที่จะเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสีย เราก็ควรจะรู้เสียก่อนว่า ประกันบำนาญ และกองทุน RMF ที่เรากำลังสนใจจะลงทุนนั้นคืออะไร 
ประกันบำนาญนั้น เป็นประกันชีวิตรูปแบบหนึ่ง ที่จะให้เราออมเงิน คล้าย ๆ กับประกันสะสมทรัพย์ เพียงแต่ว่าประกันบำนาญนั้น เราจะต้องออมเงินต่อเนื่องจนถึงอายุเกษียณ หรือก็คืออายุประมาณ 55 ถึง 60 ปี
หลังจากนั้น ตัวประกันก็จะจ่ายเงินคืนให้กับเราหลังจากที่เกษียณอายุไปแล้ว จนถึงอายุประมาณ 85 ถึง 90 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่คนส่วนใหญ่จะหมดอายุขัยพอดี 
โดยประกันบำนาญ ก็จะแบ่งได้อีก 2 ประเภท นั่นก็คือ 
- ล็อกจำนวนงวดจ่าย 
คือประกันบำนาญ ที่มีกำหนดจ่ายเบี้ยประกัน เช่น 1 ปี, 5 ปี หรือ 10 ปี เป็นต้น จากนั้นจึงค่อยรับเงินหลังจากเกษียณ ซึ่งประกันแบบนี้ จะมีเบี้ยประกันค่อนข้างแพง จึงเหมาะกับคนอายุมาก ที่มีเงินก้อน
- ล็อกจำนวนปีสุดท้ายที่จ่าย 
คือประกันบำนาญที่จะกำหนดว่า เราจะจ่ายเงินถึงอายุกี่ปี เช่น จ่ายเงินถึงอายุ 60 ปี เป็นต้น ซึ่งถ้าหากเราทำประกันตั้งแต่อายุ 30 ปี ก็แปลว่า เราจะต้องจ่ายเบี้ยประกันไปเรื่อย ๆ จนถึงอายุ 60 ปีนั่นเอง 
อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาจ่ายเบี้ยที่ยาวนานแบบนี้ ก็จะทำให้เบี้ยประกันที่จ่ายน้อยลง ซึ่งเหมาะกับคนอายุน้อย ที่ไม่ได้มีเงินก้อนไว้จ่ายค่าเบี้ยประกันเยอะ ๆ ในทีเดียว
เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่อายุยืน การทำประกันบำนาญจะดูคุ้มค่า เพราะเรามีโอกาสที่จะได้เงินบำนาญ รวมกันแล้วมากกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายไปก็เป็นได้ 
นอกจากนี้ด้วยความที่ปัจจุบัน คนเราอายุยืนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การมีประกันบำนาญ จะช่วยลดโอกาสที่จะทำให้เราเงินหมดก่อนเสียชีวิต ได้อีกด้วย
และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ประกันบำนาญก็เป็นหนึ่งในประเภทของประกันชีวิต ทำให้ถ้าหากเราเสียชีวิตไป ระหว่างจ่ายเบี้ยประกันบำนาญ ก็จะมีความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิตให้ 
ในเรื่องของภาษีนั้น เราสามารถใช้ประกันบำนาญ ช่วยลดหย่อนภาษีได้มากสุดถึง 300,000 บาท เลยทีเดียว ถ้าหากเราไม่ได้ทำประกันสุขภาพ หรือประกันชีวิตอื่น ๆ ไว้ 
เพราะประกันบำนาญนั้น จะถูกนับอยู่ทั้งในส่วนของเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ซึ่งลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท และในส่วนของการออมเพื่อเกษียณ ที่ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
เราจึงสามารถลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น ด้วยประกันบำนาญ เพียงแต่ว่าในฝั่งของการออมเพื่อเกษียณนั้น เราจะต้องนำเบี้ยประกันบำนาญ ไปนับรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ซึ่งเมื่อนับรวมทั้งหมดแล้ว จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ได้แก่ เงินสะสมเข้า PVD, เงินสะสมเข้า กบข., เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, เงินซื้อ RMF, เงินซื้อ SSF และเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ
แต่ข้อเสียของประกันบำนาญก็มีเช่นกัน นั่นก็คือ ผลตอบแทนของประกันบำนาญนั้น ค่อนข้างต่ำ เพราะอาจจะอยู่ที่ 2% ถึง 3% ต่อปีเท่านั้นเอง ซึ่งบางครั้งก็อาจจะแพ้เงินเฟ้อได้ 
มาต่อกันที่กองทุน RMF หรือชื่อเต็ม ๆ ก็คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 
กองทุน RMF นั้น ก็เหมือนกับกองทุนรวมทั่วไป ที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ทั้งตราสารหนี้, หุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไปจนถึงสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ 
เพียงแต่ว่ากองทุน RMF จะมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างเข้มงวด นั่นก็คือ ต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งสามารถลงทุนปีเว้นปีได้ และจะขายได้เมื่ออายุครบ 55 ปี เท่านั้น 
โดยเงินซื้อกองทุน RMF ที่จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้นั้น จะต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ 
นอกจากนี้ กองทุน RMF ยังมีบทลงโทษสำหรับคนที่ทำผิดเงื่อนไขด้วย ได้แก่
- ถ้าหากขายหน่วยลงทุนก่อนลงทุนครบ 5 ปี กำไรที่ได้จากการขายจะถูกนำไปคำนวณภาษี และต้องจ่ายคืนภาษีที่ลดหย่อนไปในทุกปีด้วย
- ลงทุนครบ 5 ปี แต่ขายก่อนอายุ 55 ปี กำไรที่ได้ไม่ต้องนำไปคำนวณภาษี แต่ต้องจ่ายคืนภาษีที่ลดหย่อนไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
- ถ้าหากซื้อเกินเกณฑ์ที่กำหนด แล้วขายก่อนครบเงื่อนไข จะต้องนำกำไรไปคำนวณภาษี 
นอกจากนี้ ถ้าหากจ่ายภาษีคืนย้อนหลังล่าช้า จะต้องจ่ายค่าปรับเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ขายผิดเงื่อนไข
ข้อดีของการซื้อกองทุน RMF ก็คือ เราจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มาก เพราะเราสามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลาย 
อย่างไรก็ตาม การที่เงินของเราถูกล็อกไว้จนกว่าจะอายุครบ 55 ปี ก็ทำให้เราต้องจัดการสภาพคล่องให้ดี เพราะเงินที่ลงทุนไป ไม่สามารถนำออกมาใช้ได้  
อีกทั้งเราก็ต้องใช้การวิเคราะห์ค่อนข้างมากอยู่เหมือนกัน เพราะเราต้องมองระยะยาวมาก ๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว ถึงวันที่เราเกษียณ ก็มีโอกาสที่จะขาดทุน จากการลงทุนในกองทุน RMF เช่นเดียวกัน 
และเมื่อถึงกำหนดอายุครบ 55 ปี เราก็จะมีเงินก้อนจากการขายกองทุน RMF
ซึ่งหากเราบริหารเงินไม่ดี ก็อาจทำให้เงินก้อนโตที่เราเพียรพยายามเก็บมาทั้งชีวิต หายไปอย่างรวดเร็วได้
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า ข้อดีที่ประกันบำนาญ และกองทุน RMF มีเหมือนกัน ก็คือ ความสามารถในการลดหย่อนภาษี 
เพียงแต่ว่าประกันบำนาญนั้น จะให้กระแสเงินสดที่แน่นอนกับเราในยามเกษียณ แต่ก็ต้องทำใจว่า ผลตอบแทนที่ได้นั้นค่อนข้างน้อย จนมีโอกาสถูกกัดกินจากเงินเฟ้อ
ในขณะที่กองทุน RMF แม้จะให้ผลตอบแทนที่สูงมาก แต่ก่อนเกษียณ เราจะต้องเสียสภาพคล่องไป จากเงื่อนไขแสนเข้มงวด แถมยังมีโอกาสขาดทุนได้ แม้จะลงทุนมานานหลายปีด้วย 
สุดท้ายแล้ว ถ้าหากถามว่าเลือกอะไรดีกว่ากัน ก็คงตอบไม่ได้ เพราะเครื่องมือเพื่อการเกษียณทั้ง 2 แบบนี้ ก็มีข้อดีและข้อเสียคนละแบบ 
เพราะฉะนั้น การเลือกผสมผสานทั้งประกันบำนาญ และกองทุน RMF อย่างเหมาะสม เพื่อให้ทั้ง 2 เครื่องมือนี้ ปิดจุดอ่อนของกันและกัน ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า 
และช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการเกษียณ ได้อย่างสบายใจในบั้นปลาย.. 
References 
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.