Adder กับดักการลงทุน หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน

Adder กับดักการลงทุน หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน

27 พ.ค. 2024
หากย้อนกลับไปในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา บริษัทไหนประกาศว่าจะหันไปทำพลังงานหมุนเวียน หุ้นของบริษัทนั้นแทบจะพุ่งทะยานในทันที
ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่า ภาครัฐให้เงินสนับสนุนในรูปแบบของค่า Adder ทำให้มีอัตรากำไรสูงมาก
แต่ภาพความสวยงามก็ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เพราะในวันนี้ประโยคคลาสสิกที่มักจะเจอบ่อย ๆ กลับกลายเป็น
“บริษัทรายได้ลดลง จากค่า Adder ที่หมดอายุ”
“ราคาหุ้นลง เพราะสัญญา Adder กำลังทยอยหมดอายุ”
หากสงสัยว่า Adder คืออะไร หมดอายุตอนไหน
และมีความสำคัญอย่างไร กับการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
ระบบ “Adder” เป็นนโยบายที่ภาครัฐให้เงินสนับสนุน 
หรือให้เงินส่วนเพิ่มจากอัตราค่าไฟปกติ แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 
โดยค่าไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อ จะเท่ากับ
ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) + Adder
ที่ภาครัฐทำแบบนี้ก็เพื่อจูงใจภาคเอกชน ให้มาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาไฟฟ้าจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งที่มากเกินไป
การให้ Adder ไม่ได้ให้ตลอดอายุสัมปทาน แต่จะมีระยะเวลา 7 หรือ 10 ปีเท่านั้น และโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทก็จะได้ค่า Adder ที่แตกต่างกันด้วย เช่น
- โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วงแรกได้ 8 บาท/หน่วย 
สิ้นสุดอายุสัญญาโรงไฟฟ้ารายสุดท้าย ปี 2565
- โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วงหลังได้ 6.50 บาท/หน่วย สิ้นสุดอายุสัญญาโรงไฟฟ้ารายสุดท้าย ปี 2569
- โรงไฟฟ้าพลังงานลม ได้ 3.50 บาท/หน่วย
สิ้นสุดอายุสัญญาโรงไฟฟ้ารายสุดท้าย ปี 2572
- โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ได้ 3.50 บาท/หน่วย
สิ้นสุดอายุสัญญาโรงไฟฟ้ารายสุดท้าย ปี 2568
- โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ได้ 0.30 บาท/หน่วย
สิ้นสุดอายุสัญญาโรงไฟฟ้ารายสุดท้าย ปี 2570
จากตอนแรกที่บอกว่า ค่าไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อ มาจาก
ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) + Adder
แสดงว่า หากค่าไฟฟ้าฐานรวมกับค่า Ft เท่ากับ 3 บาท
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มอีก 6.50 บาท
นั่นหมายความว่า ราคาขายไฟที่ขายได้จะสูงถึง 
9.50 บาท/หน่วย
เพราะแบบนี้เองที่ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา บางบริษัทจึงมีอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 60% เลยทีเดียว
พร้อมกับทำให้ บริษัทโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหลายแห่ง มีสัดส่วนรายได้มาจากค่า Adder ไม่น้อยเลย เห็นได้จาก 
- BCPG ในปี 2566 มีสัดส่วนรายได้จาก Adder คิดเป็น 20.84% ของรายได้รวม
- EA ในปี 2566 มีสัดส่วนรายได้จาก Adder คิดเป็น 22.07% ของรายได้รวม
- SSP ในปี 2566 มีสัดส่วนรายได้จาก Adder คิดเป็น 17.45% ของรายได้รวม
แต่อย่างที่ทราบกันว่า การให้ Adder จะมีระยะเวลาประมาณ 10 ปี และสัญญา Adder ส่วนใหญ่ ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ก็กำลังทยอยหมดอายุลง
ทำให้ถ้าหากบริษัทขยายการลงทุนเพิ่มเติม ก็จะต้องเข้าทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าฉบับใหม่ แต่จะได้ผลประโยชน์น้อยลงกว่าเดิมมาก เนื่องจากระบบ Adder ที่เคยเป็นนโยบายจูงใจสำคัญนั้นได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
ส่วนโรงไฟฟ้าที่สัญญา Adder หมดลง ก็จะได้รับรายได้จากการขายไฟในอัตราปกติ ซึ่งไม่ได้ดีเหมือนเดิม 
นั่นก็เท่ากับว่า บริษัทจะต้องหารายได้ในส่วนอื่น ๆ มาชดเชยรายได้จาก Adder ที่กำลังจะหายไป  
เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว หากหารายได้มาเติมไม่ทัน ก็จะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทในที่สุด.. 
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้น การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน ก่อนตัดสินใจลงทุน
References
-STOCK101 EP.22 : รู้จักหุ้นโรงไฟฟ้า..วิเคราะห์หาปัจจัยใดกระทบราคาซื้อขายไฟ
-แบบ 56-1 ของบมจ.บีซีพีจี
-รายงานประจำปี ของบมจ.พลังงานบริสุทธิ์
-หมายเหตุประกอบงบการเงิน บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.