เงินลงทุนในบริษัทร่วม ข้อมูลสำคัญในงบการเงินที่เราควรรู้

เงินลงทุนในบริษัทร่วม ข้อมูลสำคัญในงบการเงินที่เราควรรู้

24 พ.ค. 2024
“เงินลงทุนในบริษัทร่วม” น่าจะเป็นคำศัพท์ที่นักลงทุนหลายคนน่าจะเคยได้ยินหรือเห็นผ่านตามาบ้าง เวลาเปิดดูงบแสดงฐานะการเงินของหลายบริษัท
แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่า เงินลงทุนในบริษัทร่วมคืออะไร ทำไมถึงเป็นข้อมูลสำคัญในงบการเงินที่เราควรรู้ ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ 
ก่อนอื่นเราลองมาทำความเข้าใจกับคำว่า “บริษัทร่วม” กันก่อน
บริษัทร่วม หมายถึง กิจการที่อยู่ภายใต้อิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญของบริษัทผู้ลงทุน
หลักการโดยทั่วไปของมาตรฐานทางบัญชีระบุว่า ถ้าบริษัท A เข้าไปลงทุนถือหุ้นในบริษัท B ในสัดส่วนระหว่าง 20-50% แสดงว่า บริษัท A มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัท B
ซึ่งเราจะเรียกบริษัท B ว่า “บริษัทร่วม” ส่วนบริษัท A จะถูกเรียกว่า “บริษัทแม่” และการลงทุนนี้เรียกว่า “เงินลงทุนในบริษัทร่วม”
โดยรายการเงินลงทุนในบริษัทร่วม ที่ถูกบันทึกอยู่ในงบแสดงฐานะการเงินของบริษัทแม่ จะเป็นส่วนที่แสดงผลได้เสียที่เราได้รับจากการลงทุนนั้น
วิธีการบันทึกบัญชีแบบนี้เรียกว่า “วิธีส่วนได้เสีย” หรือ Equity Method
ตามหลักการ Equity Method การบันทึกรายการเงินลงทุนในบริษัทร่วม สามารถทำได้ดังนี้
1. บันทึกเงินลงทุนในบริษัทร่วมเริ่มแรกด้วย ราคาทุน
2. เงินลงทุนจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วยการรวมส่วนแบ่งกำไร หรือหักล้างกับส่วนแบ่งขาดทุน
3. หากบริษัทร่วมมีการจ่ายเงินปันผล เงินลงทุนในบริษัทร่วมของบริษัทแม่ก็จะลดลง ตามสัดส่วนของเงินปันผลที่ได้รับ เนื่องจากกำไรสะสมของบริษัทร่วมจะลดลง
อย่างไรก็ตาม บริษัทแม่จะบันทึกเงินปันผลที่ได้รับ มาเป็นเงินสดกลับมา
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองมาดูตัวอย่างนี้กัน
บริษัท B มีส่วนทุน 1,000 ล้านบาท โดยบริษัท A ถือหุ้นในสัดส่วน 30% คิดเป็นมูลค่า 300 ล้านบาท
จำนวนเงิน 300 ล้านบาท ก็คือ ราคาทุนที่บริษัท A บันทึกตอนเริ่มต้นลงทุนในบริษัท B นั่นเอง
เวลาผ่านไป บริษัท B ประกาศผลประกอบการโดยมีกำไร 200 ล้านบาท กำไรนี้จะถูกบันทึกอยู่ในส่วนของกำไรสะสม ภายใต้ส่วนของผู้ถือหุ้น ทำให้ตอนนี้บริษัท B มีส่วนทุน 1,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัท A ลงทุนในบริษัท B จำนวน 30% ดังนั้น 30% ของกำไร 200 ล้านบาทนี้ จะเป็นของบริษัท A 60 ล้านบาท 
ดังนั้น มูลค่าเงินลงทุนของบริษัท A ที่ลงทุนในบริษัท B ในตอนนี้จะเท่ากับ 360 ล้านบาท ในงบแสดงฐานะการเงินที่บันทึกเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย
แต่ถ้าบริษัท B ขาดทุน บริษัท A ก็จะต้องนำส่วนแบ่งขาดทุนไปหักลบกับเงินลงทุนในบริษัทร่วม
และจะหยุดรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุน เมื่อนำส่วนแบ่งขาดทุนมาหักลบ จนเงินลงทุนในบริษัทร่วมเหลือ 0
แต่ถ้ายังขาดทุนต่อเนื่องไปอีก ผลขาดทุนนี้ก็ต้องถูกนำไปหักล้างกับส่วนแบ่งกำไรของบริษัท B หากบริษัท B กลับมาทำกำไรในอนาคต
ต่อมาบริษัท B ประกาศจ่ายเงินปันผลจำนวน 100 ล้านบาท ให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมทั้งบริษัท A ด้วย
ถ้าบริษัท A มีหุ้นในบริษัท B 30% ก็จะได้เงินปันผลจำนวน 30 ล้านบาท ดังนั้น เงินปันผลในส่วนนี้ต้องนำไปหักออกจากมูลค่าเงินลงทุนของบริษัท A ที่เท่ากับ 360 ล้านบาท
ดังนั้น มูลค่าเงินลงทุนของบริษัท A ที่ลงทุนในบริษัท B จะลดลงเหลือเท่ากับ 330 ล้านบาท
โดยการบันทึกบัญชีแบบนี้ เราจะทำเฉพาะในส่วนของงบการเงินรวมของบริษัท A เท่านั้น
ส่วนในงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท A นั้น มูลค่าเงินลงทุนของบริษัท A ที่ลงทุนในบริษัท B นั้นจะถูกบันทึกไว้ที่ราคาทุน ซึ่งเท่ากับ 300 ล้านบาทไปตลอด 
ในส่วนเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท B นั้น กรณีที่เป็นงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท A เงินปันผลจะถูกบันทึกเป็นรายได้จากเงินปันผล
แต่ในส่วนของงบการเงินรวมที่แสดงเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย เงินปันผลดังกล่าวจะถูกนำมาหักออกจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมของบริษัท A 
ในตลาดหุ้นไทยเอง ก็มีหลายบริษัทที่เข้าไปลงทุนในกิจการอื่น โดยการถือหุ้นในสัดส่วนระหว่าง 20-50% แบบนี้ แล้วบันทึกการลงทุนเป็นเงินลงทุนในบริษัทร่วม เช่น
- กรณีของ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR เข้าลงทุน 20% ในร้านอาหารสุขภาพโอ้กะจู๋
- กรณีของ บมจ.เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ JMART เข้าลงทุน 30% ในร้านสุกี้ตี๋น้อย
- กรณีของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF เข้าลงทุน 41.8% ใน บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็น่าจะพอเข้าใจแล้วว่า เงินลงทุนในบริษัทร่วมคืออะไร เพราะถือเป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญในงบการเงินที่เราควรรู้นั่นเอง..
--------------------------
Sponsored by บล. Zcom
สนใจลงทุนในหุ้น เปิดบัญชีออนไลน์ไปกับ บล. Zcom 
เทรดหุ้นด้วยค่าคอมฯ เพียง 0.065%* ไม่มีค่าคอมฯ ขั้นต่ำ เทรดเท่าไร จ่ายตามจริง 
พร้อมใช้งานเครื่องมือการเทรด efin/Streaming ทุกฟังก์ชัน ฟรี !! 
เปิดบัญชีได้เลยที่ >> https://bit.ly/3VUtOBZ  ;
*อัตรานี้ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมอื่น ๆ 
**การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูล ก่อนตัดสินใจลงทุน 
Facebook: Zcom Securities  
Line: @zcomsecurities (http://bit.ly/2TJtaIC)  
#zcomsecurities
References
© 2025 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.