รู้จัก “Investment Clock” เครื่องมืออ่าน วัฏจักรเศรษฐกิจ สำหรับนักลงทุน

รู้จัก “Investment Clock” เครื่องมืออ่าน วัฏจักรเศรษฐกิจ สำหรับนักลงทุน

10 เม.ย. 2024
“ทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ” คือคำที่หลายคนอาจจะเคยได้ยิน เพราะถ้าหากเราลองศึกษาประวัติของนักลงทุนหลาย ๆ ท่าน ก็มักจะเห็นได้ว่า 
ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ หรือเศรษฐกิจตกต่ำ ที่หลาย ๆ คนมักจะหันหนีออกจากตลาดหุ้น และการลงทุน อาจจะด้วยการขาดทุน และการกลัวความเสี่ยง กลับกลายเป็นช่วงเวลาสร้างความมั่งคั่ง ของพวกเขาเหล่านั้น 
เพราะว่าในขณะที่ผู้คน พากันคิดว่าไม่มีโอกาสหลงเหลืออยู่แล้วในตลาดหุ้น แต่อันที่จริงแล้ว บางสินทรัพย์ ก็สามารถให้ผลตอบแทนสูง ในช่วงเวลาอันยากลำบากได้ 
ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เรามองเห็นโอกาสในการลงทุน ตามแต่ละช่วงเวลาต่าง ๆ ของเศรษฐกิจก็คือ “Investment Clock” หรือ “นาฬิกาการลงทุน” นั่นเอง 
และถ้าหากสงสัยว่า นาฬิกาการลงทุน มีรายละเอียด และวิธีใช้อย่างไร ในวันนี้ ? 
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ  
Investment Clock ถูกคิดค้นขึ้นโดยคุณ Trevor Greetham ในตอนที่เขายังเป็นผู้อำนวยการฝ่ายจัดสรรสินทรัพย์ ให้กับบริษัทจัดการการลงทุนชื่อดังอย่าง Merrill Lynch 
โดยคุณ Greetham นั้น ใช้ตัวเลขเศรษฐกิจเพียงแค่ 2 ตัว คือ การเติบโตของ GDP เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต และอัตราเงินเฟ้อ ในการแบ่งวัฏจักรเศรษฐกิจ ออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
1. ระยะกระตุ้นเศรษฐกิจ (Reflation Phase) 
ในระยะนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ จะชะลอตัวลงเรื่อย ๆ หรือแม้แต่ติดลบเลยก็ได้ เพราะผ่านจุดที่เศรษฐกิจหยุดชะงักมาแล้ว 
ผู้คนจึงต้องรัดเข็มขัด และไม่กล้าที่จะใช้จ่ายอะไร เศรษฐกิจจึงไม่เติบโต และอัตราเงินเฟ้อก็ปรับตัวลง เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังซบเซา   
เมื่อเป็นแบบนี้ รัฐบาล และหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะต้องเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการต่าง ๆ รวมถึงธนาคารกลางก็จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง 
ตัวอย่างของเศรษฐกิจระยะนี้ ในชีวิตจริงก็คือ ช่วงที่ประเทศไทยเจอกับโรคระบาด และจำเป็นต้องล็อกดาวน์ ทางรัฐบาลก็ออกมาตรการคนละครึ่ง ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ทำการลดดอกเบี้ยลงไปจนเหลือ 0.5% 
2. ระยะฟื้นฟู (Recovery Phase) 
เมื่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐบาล เริ่มออกดอกออกผล เศรษฐกิจก็เริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้ง ส่วนธนาคารกลางก็จะยังคงดอกเบี้ยให้ต่ำไว้อยู่ เพื่อไม่ให้ไปขัดกับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว   
ถึงอย่างนั้น ผู้คนก็ยังไม่มั่นใจที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากนัก อีกทั้งห้างร้านต่าง ๆ ก็ยังกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะลงทุนขยายกิจการ หรือเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะนี้จะยังคงต่ำอยู่ 
ตัวอย่างของเศรษฐกิจระยะนี้ในชีวิตจริงก็คือ ช่วงปี 2564 ที่สถานการณ์โรคระบาดเริ่มซาลง และประเทศไทยเริ่มกลับมาเปิดเมืองอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังคุมเข้ม ไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา
จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทย เริ่มกลับมาเติบโต จากอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2564 อยู่ที่ 1.5% จากที่ติดลบมากถึง 6.2% ในปี 2563 แต่อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2564 ก็อยู่ที่ 1.2% เท่านั้น 
3. ระยะเฟื่องฟู (Overheat Phase) 
เมื่อผ่านระยะฟื้นฟูมาได้ ผู้คนก็มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ก็มั่นใจที่จะลงทุนขยายกิจการ รวมไปถึงเดินหน้าผลิตสินค้าอย่างเต็มกำลัง 
เศรษฐกิจในช่วงนี้จะเติบโตอย่างร้อนแรง พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน จนทางธนาคารกลางต้องทยอยขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดไม่ให้เงินเฟ้อสูงจนเกินไป 
ตัวอย่างของระยะเศรษฐกิจนี้ในชีวิตจริงก็คือ ช่วง 10 ปีก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงเวลานั้น เติบโตเฉลี่ยปีละเกือบ 16% พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เฉลี่ยแล้ว อยู่ที่ปีละ 5% 
ซึ่งก็ถือว่าสูงมาก ถ้าเทียบกับช่วง 10 ปีย้อนหลังมานี้ ประเทศไทยมีเงินเฟ้อเฉลี่ย แค่ปีละ 1.2% เท่านั้นเอง  
4. ระยะชะงักงัน (Stagflation) 
Stagflation ถือเป็นฝันร้ายที่รัฐบาล หรือธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ไม่อยากรับมือ เนื่องจาก Stagflation เป็นภาวะที่เศรษฐกิจหดตัว ไปพร้อม ๆ กันกับเงินเฟ้อสูง 
ทำให้การจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้คนจับจ่ายใช้สอย เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัว ก็จะไปเร่งอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีก แต่ในทางกลับกัน ถ้าขึ้นดอกเบี้ยสูง ๆ เพื่อสู้เงินเฟ้อ เศรษฐกิจก็จะหดตัวลงมากกว่าเดิม 
เพราะฉะนั้น ในท้ายที่สุดเศรษฐกิจของประเทศ ก็จะซบเซาลง จากการที่คนไม่มีกำลังจับจ่ายใช้สอย จนอัตราเงินเฟ้อค่อย ๆ ลดลง และกลับไปเริ่มวัฏจักร ในระยะที่ 1 อีกครั้ง
ประเทศไทยนั้น ยังไม่เคยเจอกับภาวะ Stagflation แต่สิ่งที่ใกล้เคียงมากที่สุด ก็คงเป็นช่วงเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่อัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้น จากการลอยตัวค่าเงิน จนราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น 2 เท่า พร้อมกับเศรษฐกิจที่หดตัว
แล้วอะไรคือสินทรัพย์ที่เราควรจะลงทุน เมื่อดูจาก Investment Clock ? 
สำหรับสินทรัพย์และประเภทของหุ้นที่เราควรจะลงทุน แต่ละช่วงเวลานั้น คุณ Greetham ได้จำแนกไว้ดังนี้ 
- ระยะกระตุ้นเศรษฐกิจ 
สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนได้ดีในระยะนี้ก็คือ “ตราสารหนี้ระยะยาว” เนื่องจากในช่วงนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำ
และในอนาคตธนาคารกลางก็มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้ราคาของพันธบัตรที่เราถืออยู่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนประเภทของหุ้นที่ควรลงทุนในระยะนี้ก็คือ หุ้นปลอดภัยที่ยังสามารถเติบโตได้ แม้เศรษฐกิจจะตกต่ำ และอาจจะได้รับอานิสงส์ จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น 
หุ้นของบริษัท ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม 
- ระยะฟื้นฟู 
สินทรัพย์ที่ควรจะลงทุนในระยะนี้ก็คือ “หุ้น” เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ เพิ่งเริ่มจะฟื้นตัว ทำให้มูลค่าหุ้น จะยังไม่ขึ้นไปสูงมากนัก บวกกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังต่ำอยู่ ทำให้ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นยังคงน่าสนใจ 
โดยประเภทของหุ้นที่ควรลงทุนในระยะนี้ก็คือ หุ้นวัฏจักรเติบโต ที่ผลประกอบการและราคา จะเติบโตไปพร้อมกันกับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวกลับมา 
หุ้นกลุ่มธุรกิจประเภทนี้ก็เช่น กลุ่มธุรกิจธนาคาร, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้าง รวมไปถึงกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 
- ระยะเฟื่องฟู 
เมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรง ก็ย่อมมีความต้องการวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อนำมาผลิตและป้อนให้กับความต้องการ ของผู้คนที่มีกำลังซื้อมากขึ้น และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ยังทำให้ผู้คนนำเงินมาพักในโลหะมีค่า อย่างเช่น “ทองคำ” อีกด้วย
สินทรัพย์ที่ควรจะลงทุนในระยะนี้จึงเป็น “สินค้าโภคภัณฑ์” เช่น ทองคำ, น้ำมัน รวมไปถึงสินค้าทางการเกษตรต่าง ๆ 
ส่วนประเภทของหุ้นที่ควรลงทุนก็คือ หุ้นวัฏจักร อย่างเช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค, กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และกลุ่มท่องเที่ยว แต่ต้องหาหุ้นที่ราคาถูก เพราะในช่วงนี้หุ้นหลาย ๆ ตัวในตลาด จะเริ่มมีมูลค่าแพงเกินจริงแล้ว
- ระยะชะงักงัน 
ในช่วงที่เศรษฐกิจเดินทางมาถึงขาลงแบบนี้ สิ่งที่เราควรจะลงทุนก็คือ “เงินสดหรือตราสารหนี้ระยะสั้น” เพราะราคาของสินทรัพย์ ต่างก็ปรับตัวลงแทบจะทุกอย่าง
ทำให้การถือเงินสดรอลงทุนในจังหวะที่ตลาดหุ้นกลับมาฟื้นตัว ก็ดูเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผล 
ส่วนประเภทของหุ้นที่ควรลงทุนในระยะนี้ก็คือ หุ้นปลอดภัยราคาถูก อย่างเช่น หุ้นในกลุ่มธุรกิจสุขภาพ และกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค 
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า ในแต่ละช่วงเวลาของวัฏจักรเศรษฐกิจนั้น ต่างก็มีทรัพย์สินให้ลงทุนแตกต่างกัน 
ถึงอย่างนั้น Investment Clock ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ คือ ในบางครั้ง วัฏจักรเศรษฐกิจ อาจจะไม่ได้ดำเนินตาม 4 ระยะแบบนี้เสมอไปก็ได้ 
อีกทั้งสัญญาณอย่างการเติบโตของ GDP ยังเป็นตัวบ่งบอกสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างช้า เพราะอย่างเร็วที่สุด อัตราการเติบโตของ GDP จะประกาศทุก 3 เดือน 
ทำให้ในบางครั้ง กว่าเราจะรับรู้ได้ว่า เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจริง ๆ ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว.. 
References 
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.