ล้านบาทแรก สำคัญแค่ไหน ? และทำอย่างไร ถึงจะมีล้านแรก

ล้านบาทแรก สำคัญแค่ไหน ? และทำอย่างไร ถึงจะมีล้านแรก

8 ก.พ. 2024
ล้านบาทแรก สำคัญแค่ไหน ? และทำอย่างไร ถึงจะมีล้านแรก | MONEY LAB
ประโยคคลาสสิกที่ว่า “เงินเก็บ 1 ล้านบาทแรกมักยากที่สุด แต่เงินล้านต่อ ๆ มา มักจะเกิดขึ้นง่ายกว่า”
ถ้าเราทนลำบากตรากตรำ จนเก็บเงินได้ 1 ล้านบาทแรกแล้ว ผลที่ตามมาก็คือ การมีเงินล้านต่อ ๆ ไป ก็จะง่ายขึ้นกว่าที่เคย
แต่คำถามต่อมาก็คือ ทำอย่างไรถึงจะมีเงินล้านแรก ?
แม้ว่าหนทางที่จะไปถึงเงิน 1 ล้านบาทแรก จะดูยากแค่ไหน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
ทำไม 1 ล้านบาทแรกถึงสำคัญมาก ?
และมีหนทางใดบ้าง ที่เราจะไปถึง 1 ล้านบาทแรกได้ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
การจะทำให้เงินของเราไปถึง 1 ล้านบาทแรกได้ ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเป็นไปไม่ได้ โดยวิธีที่จะทำให้เราได้เงินล้านแรกเร็ว ๆ ก็ได้แก่
สร้างเงินต้นสำหรับการลงทุน ให้ได้มาก ๆ
การหารายได้ให้มากขึ้น เป็นวิธีที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา สำหรับคนที่ไม่มีเงินต้นมาก เนื่องจากการมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เราเหลือเงินไว้สำหรับเก็บออมมากขึ้น
โดยช่องทางการหารายได้เพิ่ม ก็มีอีกหลากหลายช่องทางเช่นกัน ถ้าหากใครที่มีไอเดียดี ๆ การทำธุรกิจของตัวเอง ก็สามารถทำเงินให้เราได้มากมาย
หรือใครที่มีความสามารถในด้านอื่น ๆ เช่น การร้องเพลง หรือการเขียน ก็สามารถหาเงินได้ด้วยการผลิตงานลิขสิทธิ์ของตัวเอง
รวมไปถึงการทำ Affiliate กับแพลตฟอร์มช็อปปิงออนไลน์ต่าง ๆ ไว้เป็น Passive Income ก็ได้เช่นกัน
แต่ถ้าใครที่ไม่ถนัดในเรื่องที่ว่ามา ก็อาจจะต้องเน้นไปที่ การนำเงินไปลงทุน ในสินทรัพย์ที่ให้กระแสเงินสดเราเรื่อย ๆ เช่น กองทุนรวม หุ้นปันผล หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล หรือปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์แทน ก็ได้เช่นกัน
ลงทุนให้ถูกที่ เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่ง
รู้หรือไม่ว่า ต่อให้เราฝากเงิน ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ที่สูงที่สุดในไทยคือ 2% ต่อปี เราต้องใช้เวลาถึง 36 ปี เราถึงจะมีเงินเพิ่มขึ้น 2 เท่า
แต่ถ้าหากเรานำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้น อย่างเช่น S&P 500 ของสหรัฐอเมริกา ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 12% เงินของเราจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 6 ปีเท่านั้น
สิ่งนี้เองแสดงให้เห็นว่า ถ้าหากเราอยากจะไปให้ถึงเงิน 1 ล้านบาทแรกอย่างรวดเร็ว ต้องไม่เพียงแต่ขยันเก็บออมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องออมเงินให้ถูกที่ถูกทางด้วย
เพราะเวลาชีวิตของเรานั้นมีอยู่จำกัด การจะรอให้ได้เงิน 1 ล้านบาทแรก ในตอนที่อายุมากแล้ว ก็อาจไม่มีเงินพอใช้จ่ายยามเกษียณได้
ถึงอย่างนั้น เราก็ต้องไม่มองแต่ผลตอบแทนเพียงด้านเดียว แต่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่ตัวเองรับไหวด้วย
เพราะอย่าลืมว่าในระหว่างการลงทุน ย่อมมีความผันผวน ถ้าหากใจของเราทนไม่ได้ แล้วทำการขายออกมา ก็จะเสียโอกาสในการทำให้ผลตอบแทนทบต้นขึ้นไปอีก
อย่ามองข้าม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หลายคนมักจะมองข้าม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะคิดว่า การนำเงินไปลงทุนเองนั้น ดูจะได้ผลตอบแทนที่มากกว่า
แต่อย่าลืมว่า ถ้าอย่างน้อย เราเลือกส่งเงินเข้ากองทุน เป็นอัตราเท่ากันกับที่นายจ้างสมทบให้ เมื่อนับเงินที่ได้มาแล้ว ก็ถือว่าได้ผลตอบแทน 100% เลยทีเดียว ซึ่งผลตอบแทนขนาดนี้ ถ้าหากเราจะได้จากหุ้นรายตัว ก็ถือว่ายากมาก
นอกจากนี้ รายงานของ Ramsey Solutions บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินจากประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า 8 ใน 10 ของเศรษฐีชาวอเมริกัน ที่ทางบริษัททำการศึกษา ต่างก็บอกว่า การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พวกเขามีเงิน 1 ล้านดอลลาร์แรกได้ ไม่ใช่การลงทุนหุ้นรายตัว
แล้วเมื่อมีเงิน 1 ล้านบาทแรกแล้ว ล้านบาทต่อไป จะง่ายขึ้นจริงไหม ?
“สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก” คือคำนิยามที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังของโลก ให้ไว้แก่อัตราผลตอบแทนทบต้น หรือ Compound Interest
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า อัตราผลตอบแทนทบต้น ก็คือ ผลตอบแทนที่ได้จาก “เงินต้น” ซึ่งเป็นการรวมกัน ของทุนเดิมที่เรามีอยู่ กับดอกเบี้ย หรือกำไร ที่เราได้รับมาจากการลงทุนในปีก่อน ๆ ส่งผลให้เงินลงทุนของเรา สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ทีนี้เรามาดูกันว่า ถ้าเราต้องการเก็บเงินให้ครบ 1 ล้านบาทแรก โดยการลงทุนอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน
ภายใต้อัตราผลตอบแทนทบต้นที่คาดหวังปีละ 10% เราจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน ?
ลงทุนเดือนละ 5,000 บาท ระยะเวลาที่ใช้ 9.9 ปีลงทุนเดือนละ 8,000 บาท ระยะเวลาที่ใช้ 7.2 ปีลงทุนเดือนละ 10,000 บาท ระยะเวลาที่ใช้ 6.1 ปี
ต่อมาเมื่อเราได้เงิน 1 ล้านบาทแรกแล้ว ถ้าเราอยากเก็บเงินต่อไปให้ครบ 2 ล้านบาท โดยทำแบบเดิม ภายใต้อัตราผลตอบแทนทบต้นที่คาดหวังปีละ 10% เราคิดว่าจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน ?
ลงทุนเดือนละ 5,000 บาท ระยะเวลาที่ใช้ 4.9 ปีลงทุนเดือนละ 8,000 บาท ระยะเวลาที่ใช้ 4.1 ปีลงทุนเดือนละ 10,000 บาท ระยะเวลาที่ใช้ 3.8 ปี
ชัดเจนว่า ระยะเวลาในการเก็บเงินเพิ่มอีก 1 ล้านบาท เพื่อรวมเป็น 2 ล้านบาท นั้นสั้นลง นั่นก็เพราะว่าการที่เรามีเงินต้นอยู่แล้ว 1 ล้านบาท รวมกับการทำงานของอัตราดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง
นอกจากนี้ เมื่อเรามีเงินมากขึ้น ก็จะเปิดโอกาสให้เราลงทุน ในสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งแม้จะเสี่ยงกว่า แต่ให้ผลตอบแทนที่สูงมาก เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์, การลงทุนในกองทุน Venture Capital หรือ Private Equity ที่เป็นการลงทุนในกิจการขนาดเล็กที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น
จากตรงนี้เองจะเห็นได้ว่า การมีเงิน 1 ล้านบาทแรกนั้นสำคัญมาก ๆ เพราะการมีเงินต้นเยอะ จะช่วยให้ผลตอบแทนทบต้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เราเข้าถึง สินทรัพย์การลงทุนใหม่ ๆ ที่คนมีเงินน้อยไม่สามารถเข้าถึงได้อีกด้วย
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งเราจะได้จากการมีเงิน 1 ล้านบาทแรก แต่ไม่สามารถประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้ ก็คือประสบการณ์ระหว่างทาง ที่เราได้มาระหว่างทางฝ่าฟัน เพื่อให้ตัวเองได้เงิน 1 ล้านบาทแรกมา
เพราะประสบการณ์เหล่านี้ จะกลั่นกรองเป็น Mindset ที่ดี ทั้งในการลงทุน และการบริหารจัดการเงิน ให้กับตัวของเราเอง
จนหลังจากนี้ต่อไป ไม่ว่าเราจะต้องการหาเงินเพิ่มอีกกี่ล้านในอนาคต ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดูยากเกินความสามารถ อีกต่อไปแล้ว..
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดี ๆ เพลิดเพลินทั้ง กิน เที่ยว ช้อป ในไทยและต่างประเทศ
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ
Facebook : JCB Thailand
LINE : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)
JCBThailand #JCBCard
JCBOwnHappinessOwnStory #อีกขั้นของความสุขในรูปแบบที่เป็นตัวคุณ
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.