Tracking Error ตัวเลขสำคัญ ที่คนซื้อ กองทุนดัชนี ควรรู้

Tracking Error ตัวเลขสำคัญ ที่คนซื้อ กองทุนดัชนี ควรรู้

5 ก.พ. 2024
Tracking Error ตัวเลขสำคัญ ที่คนซื้อ กองทุนดัชนี ควรรู้ | MONEY LAB
กองทุนอิงดัชนี หรือ Index Fund เป็นเหมือนเครื่องมือการลงทุนสามัญประจำบ้าน
ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนมือใหม่ ที่ยังไม่กล้าเสี่ยงกับการลงทุนหุ้นรายตัว หรือนักลงทุนมือเก๋า ก็มักจะมีติดพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน
ซึ่งส่วนใหญ่ เวลาที่เราเลือกซื้อกองทุนอิงดัชนี เราก็มักจะมองที่ตัวเลขผลตอบแทน และค่าธรรมเนียมเป็นหลัก
ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีตัวเลขหนึ่ง ที่ผู้ลงทุนกองทุนอิงดัชนีควรจะรู้ นั่นก็คือตัวเลข “Tracking Error”
แล้ว Tracking Error คืออะไร ?
มีความสำคัญอย่างไร กับกองทุนอิงดัชนี ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
กองทุนอิงดัชนีนั้น ต้องสร้างพอร์ตการลงทุน ให้สามารถสร้างผลตอบแทน ล้อไปกับดัชนีตามชื่อ
ยกตัวอย่างเช่น กองทุน SET50 ก็คือกองทุน ที่นำเงินไปลงทุนในหุ้นแต่ละตัว ซึ่งอยู่ในดัชนี SET50 และคงสัดส่วนไว้ ให้ใกล้เคียงกันกับดัชนีอยู่ตลอด
อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ครั้ง ผลตอบแทนของกองทุนอิงดัชนี ก็ไม่ตรงกันกับตลาดหุ้น
ซึ่งความแตกต่างระหว่าง ผลตอบแทนของกองทุน กับตลาดหุ้นนี้เอง ก็คือสิ่งที่เรียกว่า Tracking Error นั่นเอง
วิธีการคำนวณของ Tracking Error นั้นค่อนข้างซับซ้อน แต่การแปลความหมายของตัวเลขนี้ ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
เพราะสิ่งที่ Tracking Error บอกเราก็คือ กองทุนอิงดัชนีที่เราลงทุนอยู่ มีความใกล้เคียงกับดัชนีที่กองทุนกำลังอิงอยู่ มากน้อยแค่ไหน
ยกตัวอย่างเช่น กองทุน SET50 ของ บลจ. A มี Tracking Error เท่ากับ 0.25% ก็แปลว่า กองทุน SET50 ของ บลจ. A สามารถขึ้นหรือลง มากกว่าดัชนี SET50 ประมาณ 0.25%
แล้วอะไรที่ทำให้เกิด Tracking Error ?
สิ่งแรกที่ทำให้ผลตอบแทนของกองทุน แตกต่างจากดัชนี ก็คือ การที่ผู้จัดการกองทุน ต้องเจอกับค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้น
เพราะอย่าลืมว่าดัชนีก็มีการประเมิน และปรับปรุงในทุก ๆ ปี ทำให้อาจจะมีหุ้นบางตัว ที่หลุดออกจากดัชนีไป และเอาหุ้นตัวใหม่ ที่เข้าเกณฑ์มาแทน
ซึ่งผู้จัดการกองทุน ก็มีหน้าที่ขายหุ้นตัวที่หลุดจากดัชนีออกไป และซื้อตัวใหม่ที่เข้ามาอยู่ในดัชนีแทน
โดยจำนวนหุ้น ที่กองทุนซื้อและขายกันนั้น ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เยอะมากเลยทีเดียว จึงทำให้กองทุนต้องเจอกับค่าธรรมเนียมในการซื้อขายที่มากตามไปด้วย
จนเมื่อนำมาหักกับผลตอบแทนในการลงทุน และเทียบกับดัชนี ก็จะทำให้เกิดความต่างขึ้นมา
นอกจากนี้ ด้วยความที่กองทุนต้องเข้าซื้อหรือขายหุ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้กว่าจะปรับพอร์ตเสร็จเรียบร้อยก็ใช้เวลานาน
ช่วงระยะเวลาที่ต้องรอขายหุ้นออก หรือซื้อหุ้นเข้านี้เอง ก็อาจทำให้ผลตอบแทนของกองทุน คลาดเคลื่อนจากดัชนีเช่นกัน
สรุปแล้ว เวลาที่เราเลือกซื้อกองทุนอิงดัชนีในครั้งต่อไป เราก็ควรจะเลือกกองทุน ที่มีค่า Tracking Error น้อยที่สุด
เพื่อที่เงินของเราจะได้เติบโตไปตามตลาดหุ้น ที่เรานำเงินไปลงทุน ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
อย่างไรก็ตาม ตัวเลข Tracking Error จะนำมาใช้ในการเลือกกองทุนแบบ Active Fund ไม่ได้
เพราะจุดมุ่งหมายของกองทุนแบบ Active Fund คือการเอาชนะตลาด ไม่ใช่การลงทุนให้ล้อไปกับตลาด
จากทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า Tracking Error นั้น แม้จะเป็นส่วนเล็ก ๆ ในหนังสือชี้ชวนของกองทุน
และมีค่าเพียงเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเกิน 1% จนดูไม่ค่อยสำคัญ
แต่เมื่อเทียบกับเวลาลงทุน ที่เราจะต้องถือกองทุนเหล่านี้ไปยาว ๆ แล้ว
ส่วนต่างของผลตอบแทนเพียงแค่เล็กน้อย เมื่อสะสมกันไปนาน ๆ ก็อาจจะส่งผลต่อ ผลตอบแทนที่เราจะได้รับในปลายทาง มากกว่าที่คิด..
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดี ๆ เพลิดเพลินทั้ง กิน เที่ยว ช้อป ในไทยและต่างประเทศ
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ
Facebook : JCB Thailand
LINE : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)JCBThailand #JCBCard
JCBOwnHappinessOwnStory #อีกขั้นของความสุขในรูปแบบที่เป็นตัวคุณ
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.