สรุป มาตรการ​​ EV3.5 จุดชนวน EV ไทย

สรุป มาตรการ​​ EV3.5 จุดชนวน EV ไทย

22 ม.ค. 2024
สรุป มาตรการ​​ EV3.5 จุดชนวน EV ไทย | MONEY LAB
รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV เป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจ และมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากยานยนต์เป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทยมาโดยตลอด
โดยประเทศไทยเอง ก็ตั้งเป้าที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ถึง 30% ภายในปี 2573
ซึ่งหนึ่งในมาตรการ ที่จะสนับสนุนให้ไปถึงเป้านั้นได้ ก็คือ “มาตรการ EV3.5”
รายละเอียดของมาตรการนี้ เป็นอย่างไร
และใครจะได้ประโยชน์บ้าง ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทยมาโดยตลอด
ซึ่งในอุตสาหกรรมนี้ มีการจ้างงานถึง 800,000 คน, มีบริษัทที่อยู่ในซัปพลายเชนกว่า 3,000 บริษัท และมีมูลค่าการส่งออกกว่า 9 แสนล้านบาท
แต่ด้วยการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้การเป็นฐานการผลิตของไทยเริ่มสั่นคลอน จากผู้ท้าชิงประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างเช่น อินโดนีเซีย ที่เป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน รายใหญ่ของโลก
หรือเวียดนาม ที่มีแรงงานจำนวนมาก และมีข้อตกลงทางการค้าเสรีกับหลากหลายประเทศ
เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวน และยังรักษาความเป็นผู้นำในด้านการผลิตรถยนต์เอาไว้ จึงเกิดเป็นนโยบาย 30@30
นโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าเอาไว้ว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 ประเทศไทยจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด
คิดเป็น การผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน
โดยหนึ่งในมาตรการเสริม ที่จะช่วยจุดชนวนให้ไปถึงเป้าหมาย ก็คือ “มาตรการ EV3.5”
แล้วมาตรการ EV3.5 คืออะไร ?
ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า ก่อนหน้านี้มีมาตรการที่เรียกว่า EV3.0 และเพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา
โดยใจความสำคัญของ EV3.0 ก็คือ บริษัทผู้นำเข้ารถ EV ที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีแบตเตอรี่ขนาด 30 kWh ขึ้นไป จะได้รับเงินสนับสนุนเป็นจำนวน 150,000 บาท/คัน พร้อมปรับลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2%
ส่งผลให้ราคารถ EV ที่เข้าเงื่อนไข ลดลงจากราคาที่ตั้งไว้ประมาณ 200,000-250,000 บาท ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภค
เมื่อมาตรการสิ้นสุดลง และเพื่อไม่ให้เกิดรอยต่อ จึงเกิดเป็นมาตรการ EV3.5 สำหรับสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 ในช่วงปี 2567-2570 รวม 4 ปี
สำหรับเงื่อนไขของมาตรการ EV3.5 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
รถยนต์ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท
ได้รับเงินอุดหนุน 20,000-100,000 บาท/คัน
และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%
รถกระบะ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และผลิตในประเทศ
ได้รับเงินอุดหนุน 50,000-100,000 บาท/คัน
และลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 2%
รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ราคาไม่เกิน 150,000 บาท และผลิตในประเทศ
ได้รับเงินอุดหนุน 5,000-10,000 บาท/คัน
การได้รับเงินอุดหนุน และการลดภาษีสรรพสามิต ทำให้ราคารถ EV ลดลง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มดีมานด์จากฝั่งผู้บริโภค
ในอีกด้านหนึ่งของมาตรการ EV3.5 ก็คือ การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากฝั่งผู้ผลิตด้วย โดยมีข้อกำหนดดังนี้
ผู้ผลิตที่นำเข้ารถ EV มาขาย 1 คัน จะต้องผลิตชดเชย 1 คัน ถ้าผลิตภายในปี 2567
และจะต้องผลิตชดเชยในสัดส่วนที่มากขึ้น หากเริ่มผลิตชดเชยช้า คือ
ผลิตชดเชย 1.5 คัน ถ้าผลิตภายในปี 2568ผลิตชดเชย 2 คัน ถ้าผลิตภายในปี 2569ผลิตชดเชย 3 คัน ถ้าผลิตภายในปี 2570
ซึ่งเงื่อนไขนี้ ก็จะทำให้ค่ายรถยนต์ต้องมาตั้งฐานการผลิตในไทย และผลักดันให้ไทยกลายเป็นฮับของการผลิตรถ EV ในภูมิภาคนี้ได้
ซึ่งการเป็นฮับการผลิตรถ EV ก็ยังเป็นประโยชน์กับอีกหลายอุตสาหกรรม เช่น
กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ที่ได้ประโยชน์จากการเข้ามาสร้างโรงงานกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ ที่จะได้ออร์เดอร์เพิ่มจาก EVกลุ่มที่เป็นดีลเลอร์รถยนต์ EVกลุ่มพลังงานไฟฟ้า และสถานีชาร์จไฟฟ้า
และนี่ก็คือมาตรการ EV3.5 ที่จะเป็นก้าวแรก และช่วยจุดชนวนให้กับอุตสาหกรรมรถ EV ของไทย..
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดี ๆ เพลิดเพลินทั้ง กิน เที่ยว ช้อป ในไทยและต่างประเทศ
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ
Facebook : JCB Thailand
LINE : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)JCBThailand #JCBCard
JCBOwnHappinessOwnStory #อีกขั้นของความสุขในรูปแบบที่เป็นตัวคุณ
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.