สรุป เครดิตภาษีเงินปันผล วิธีขอเงินภาษีคืน ของคนมีเงินปันผล

สรุป เครดิตภาษีเงินปันผล วิธีขอเงินภาษีคืน ของคนมีเงินปันผล

15 ม.ค. 2024
สรุป เครดิตภาษีเงินปันผล วิธีขอเงินภาษีคืน ของคนมีเงินปันผล | MONEY LAB
ในช่วงเวลาต้นปีอย่างนี้ สิ่งที่คนมีรายได้ทุกคนต้องทำก็คือ การยื่นภาษี
ซึ่งสำหรับหลาย ๆ คน นอกจากจะมีรายได้จากการทำงานประจำแล้ว ก็น่าจะมีรายได้จากการลงทุน ในรูปของเงินปันผลด้วย
แต่รู้หรือไม่ว่า เงินปันผลที่เราได้รับนั้น สามารถนำมาใช้ยื่นภาษี เพื่อขอเงินภาษีคืน ผ่านการใช้ “เครดิตภาษีเงินปันผล” ได้ด้วย
แล้ว เครดิตภาษีเงินปันผล คืออะไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
เครดิตภาษีเงินปันผล เป็นวิธีใช้ลดปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อนระหว่าง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ของกรมสรรพากร
โดยปัญหาของการเก็บภาษีซ้ำซ้อนนั้นก็คือ เวลาบริษัทจะจ่ายเงินปันผลจากกำไร ให้กับนักลงทุนนั้น
บริษัทจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรที่บริษัททำได้ก่อน ซึ่งในประเทศไทย อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล อยู่ที่ 20%
และเมื่อบริษัทจ่ายเงินปันผลออกมา เงินปันผลจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปอีก 10% ตามกฎหมาย
เช่น บริษัททำกำไรก่อนหักภาษีได้ 100 ล้านบาท และเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไป 20% ทำให้เหลือกำไรสุทธิ 80 ล้านบาท
ถ้าบริษัทเลือกจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิให้กับนักลงทุน ทั้งหมดของกำไรสุทธิ คือ 80 ล้านบาท
ก็จะโดนหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ในที่นี้คือ 8 ล้านบาท
ทำให้เงินปันผลที่นักลงทุนจะได้รับจริง ๆ เหลือแค่ 72 ล้านบาท
หมายความว่า กว่าเงินปันผลจะมาถึงมือนักลงทุน ในระหว่างทางก็มีการเสียภาษีไปแล้ว ถึง 28%
สำหรับขั้นตอนในการใช้เครดิตภาษีเงินปันผล เพื่อขอเงินภาษีคืน จะขอยกตัวอย่างให้เข้าใจกันอย่างง่าย ๆ
หาจำนวนเงินปันผล ก่อนโดนภาษีหัก ณ ที่จ่าย
สมมติว่า คุณ A มีรายได้จากการทำงานประจำทั้งปี 360,000 บาท และได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในหุ้นทั้งปี 18,000 บาท
โดยเงินปันผลที่คุณ A ได้รับนั้น โดนหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว 10%
การคำนวณหาจำนวนเงินปันผล ก่อนโดนภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะทำได้ดังนี้
นำเงินปันผลที่คุณ A ได้รับจำนวน 18,000 บาท
มาหารด้วย
(100 - อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10%)
เราจะได้ มูลค่าเงินปันผลก่อนหักภาษี ณ ที่จ่าย
เท่ากับ 20,000 บาท
หาจำนวนเงิน เครดิตภาษีเงินปันผล
วิธีในการคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผล สามารถคำนวณได้โดย
(มูลค่าเงินปันผลก่อนหักภาษี ณ ที่จ่าย) x (อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล)
แล้วนำมาหารด้วย
(100 - อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล)
โดยในประเทศไทยนั้น อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จะอยู่ที่ 20%
ทำให้กรณีของคุณ A จะมีเครดิตภาษีเงินปันผล
เท่ากับ 5,000 บาท
สำหรับเครดิตภาษีเงินปันผลนั้น จะถูกนับเป็นรายได้ด้วย
ดังนั้น เวลาคุณ A ยื่นภาษี ก็จะต้องนำส่วนนี้มาคำนวณ
เท่ากับว่า คุณ A จะมีรายได้จากการทำงานประจำ + มูลค่าเงินปันผลก่อนหักภาษี ณ ที่จ่าย + เครดิตภาษีเงินปันผล ในช่องรายได้
เมื่อรวมกันแล้ว จะได้รายได้รวม เท่ากับ 385,000 บาท
หาจำนวนเงินได้สุทธิ
เงินได้สุทธิ คือ จำนวนเงินได้ที่เหลือ หลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ ตามสิทธิที่ทางภาครัฐให้ใช้ไปหมดแล้ว
เงินที่เหลือ ก็จะถูกนำมาคำนวณหาภาษี ที่เราจะต้องจ่ายต่อไป
สมมติว่า คุณ A ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แค่
หัก ค่าใช้จ่าย 100,000 บาทหัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาทหัก ค่าประกันสังคม 9,000 บาท
ดังนั้น เงินได้สุทธิ จะเท่ากับ
385,000 - 169,000 = 216,000 บาท
คำนวณหาภาษี ที่ต้องจ่าย
ประเทศไทย คิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได คือ ยิ่งมีเงินได้สุทธิมาก ก็จะยิ่งเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น
สำหรับคุณ A มีเงินได้สุทธิที่อยู่ในเกณฑ์ที่เสียภาษี 5%
ทำให้เมื่อคำนวณออกมาแล้ว คุณ A จะต้องเสียภาษี เป็นเงินทั้งสิ้น 3,300 บาท
ใช้สิทธิประโยชน์จากเครดิตภาษีเงินปันผล
สำหรับขั้นตอนสุดท้าย เราต้องนำจำนวนเงินปันผล ที่ถูกหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย และเครดิตภาษีเงินปันผล มาหักออกจากจำนวนเงินภาษี ที่เราคำนวณได้จากขั้นตอนที่ 4 ด้วย
โดยคุณ A มี
ภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผล 2,000 บาทเครดิตภาษีเงินปันผล 5,000 บาท
ดังนั้น เมื่อนำมาหักออก จะเท่ากับ
3,300 - 2,000 - 5,000 = -3,700 บาท
หมายความว่า คุณ A จะไม่ต้องเสียภาษี และยังจะได้รับเงินภาษีคืนอีก 3,700 บาท ด้วย
โดยจำนวนเงิน 3,700 บาทนี้ คือจำนวนเงินภาษีที่คุณ A ชำระเกินไป จากการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน ทำให้คุณ A ได้สิทธิในการขอคืนภาษี นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การยื่นเครดิตภาษีเงินปันผลนั้น ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์ สำหรับทุกคนเสมอไป
เพราะคนที่มีรายได้สูงมาก การยื่นเครดิตภาษีเงินปันผล กลับจะทำให้ต้องเสียภาษีมากขึ้น
วิธีเช็กว่า เราควรจะยื่นเครดิตภาษีเงินปันผลหรือไม่นั้น ก็สามารถตรวจสอบได้ง่าย ๆ โดย
ถ้าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเรา น้อยกว่า 30% เราควรยื่นเครดิตภาษี เพราะจะทำให้เสียภาษีน้อยลงถ้าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเรา เท่ากับหรือมากกว่า 30% ขึ้นไป เราไม่ควรยื่นเครดิตภาษี เพราะจะทำให้เสียภาษีมากขึ้น
ถึงตรงนี้ เราก็คงพอเข้าใจ วิธีในการคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผล และข้อดีในการยื่นเครดิตภาษีเงินปันผล กันมากขึ้นแล้ว
ซึ่งก็เชื่อว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่มีรายได้จากเงินปันผลอยู่แล้ว และคนที่กำลังจะเริ่มมีรายได้จากเงินปันผลในอนาคต ได้ไม่มากก็น้อย..
Sponsored by JCB
สัมผัสประสบการณ์ที่มากกว่ากับ บัตรเครดิต JCB
ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดี ๆ เพลิดเพลินทั้ง กิน เที่ยว ช้อป ในไทยและต่างประเทศ
พร้อมกับการให้บริการสุดพิถีพิถันทุกรูปแบบ
Facebook : JCB Thailand
LINE : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)JCBThailand #JCBCard
JCBOwnHappinessOwnStory #อีกขั้นของความสุขในรูปแบบที่เป็นตัวคุณ
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.