รายได้ทั้งหมด ของบริษัทในตลาดหุ้นไทย 1 ใน 3 มาจากต่างประเทศ | MONEY LAB
ปัจจุบันนักลงทุนไทยหลายคน เริ่มทยอยออกไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศกันมากขึ้น
รายได้ทั้งหมด ของบริษัทในตลาดหุ้นไทย 1 ใน 3 มาจากต่างประเทศ
27 ธ.ค. 2023
ทั้งตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา, จีน, ฮ่องกง รวมถึงเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่
แต่รู้หรือไม่ว่า นักธุรกิจที่เป็นเจ้าของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเอง ได้ขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศมานานนับ 10 ปีแล้ว
โดยในปี 2565 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย มีรายได้จากต่างประเทศรวมกันมากถึง 6.21 ล้านล้านบาท
คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของรายได้รวมทั้งหมด ของบริษัทในตลาดหุ้นเลยทีเดียว
คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของรายได้รวมทั้งหมด ของบริษัทในตลาดหุ้นเลยทีเดียว
วันนี้ MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
ในตลาดหุ้นไทย มีกลุ่มบริษัทใหญ่ ที่มีฐานการทำธุรกิจในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น
กลุ่มเซ็นทรัล ที่มีการซื้อห้างสรรพสินค้าชื่อดังในประเทศแถบยุโรปกลุ่มไมเนอร์ ที่มีการขยายธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารไปทุกทวีปทั่วโลกกลุ่ม ปตท. ที่มีธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในหลายภูมิภาค เช่น ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และแอฟริกา
กลุ่มบริษัทเหล่านี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของบริษัทไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วยังมีบริษัทอีกมากมาย ที่ต่างก็ไปลงทุนในต่างประเทศ
จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ในปี 2565 มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนฯ ไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด 287 บริษัท จากทั้งหมด 810 บริษัทในตลาดหุ้น
โดยในปี 2565 เม็ดเงินลงทุนทางตรงไปยังต่างประเทศของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยทั้งหมด มีมูลค่าประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท
ซึ่งภูมิภาคที่บริษัทจดทะเบียนฯ ไทยนิยมไปลงทุนมากที่สุดก็คือ แถบอาเซียนบ้านเรานี่เอง โดยมีเม็ดเงินลงทุนในอาเซียนสูงถึง 3.8 หมื่นล้านบาท
และประเทศที่รับเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทไทยก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเพื่อนบ้านของเราอย่างเวียดนาม
เวียดนามรับเงินลงทุนโดยตรงจากบริษัทจดทะเบียนฯ ไทยสูงถึง 3.1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 82% ของเม็ดเงินลงทุนในแถบอาเซียนเลยทีเดียว
สาเหตุหนึ่งที่นักธุรกิจไทยเริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ก็น่าจะเป็นเพราะว่า เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงเรื่อย ๆ ประกอบกับอัตราการเกิดของประชากรเริ่มต่ำลง
ซึ่งปัจจุบันนี้ อัตราการเกิดลดลงไปต่ำกว่าอัตราการเสียชีวิตแล้ว นั่นหมายความว่า ประเทศไทยตอนนี้มีจำนวนประชากรที่กำลังลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคภายในประเทศ
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ในหลาย ๆ อุตสาหกรรมของไทย มักจะมีผู้เล่นครองตลาดอยู่ไม่กี่เจ้า ทำให้การหาช่องว่างทางการตลาด เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ทำได้ยากมาก
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นธุรกิจไทยจำนวนมากนิยมไปลงทุนในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีประชากรวัยแรงงานมากกว่าไทย ยังไม่เจอปัญหาอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง และยังมีช่องว่างในหลายอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีเจ้าตลาด
ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทจดทะเบียนฯ ไทย สามารถสร้างรายได้จากต่างประเทศได้ทั้งหมด 6.21 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น
รายได้จากการทำธุรกิจที่ต่างประเทศ 49%รายได้จากการส่งออก 7%รายได้ที่ไม่ระบุประเภท 44%
หากย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว คือปี 2559 บริษัทจดทะเบียนฯ ไทย มีรายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท นั่นแปลว่า มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยแบบทบต้น 18% ต่อปีเลยทีเดียว
และด้วยสภาพเศรษฐกิจไทยที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับ 2-3% ต่อปี การออกไปลงทุนในต่างประเทศ จึงถือเป็นทางรอดของนักธุรกิจไทย ไม่ต่างอะไรจากที่เป็นทางรอดของนักลงทุนไทยเช่นกัน..