กัมพูชา กำลังเป็น สมรภูมิแข่งขันของ ร้านกาแฟต่างชาติ

กัมพูชา กำลังเป็น สมรภูมิแข่งขันของ ร้านกาแฟต่างชาติ

26 ธ.ค. 2023
กัมพูชา กำลังเป็น สมรภูมิแข่งขันของ ร้านกาแฟต่างชาติ | MONEY LAB
รู้หรือไม่ว่า ร้าน Café Amazon ไม่ได้มีสาขา อยู่เพียงแค่ตามสถานีบริการน้ำมัน ปตท. หรือห้างสรรพสินค้าบางแห่งในไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงต่างประเทศอีกด้วย
ซึ่งประเทศที่มีสาขาของ Café Amazon มากที่สุด หากไม่นับประเทศไทยแล้ว ก็คือ ประเทศกัมพูชา ที่มีสาขามากถึง 225 สาขา
ทว่ากัมพูชานั้น ไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมาย ของร้านกาแฟไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง แบรนด์ร้านกาแฟต่างชาติอื่น ๆ อย่างเช่น Starbucks จากสหรัฐอเมริกา, Costa Coffee จากอังกฤษ และ Gloria Jean’s จากออสเตรเลีย อีกด้วย
แล้วเพราะอะไร ประเทศกัมพูชา ถึงมีร้านกาแฟต่างชาติ พยายามเข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาด มากมายหลายแบรนด์แบบนี้ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
ปัจจัยที่ทำให้ตลาดกาแฟ ของประเทศกัมพูชา เป็นที่น่าสนใจของบรรดานักลงทุนต่างชาติ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่
ตลาดกาแฟของกัมพูชา เติบโตเร็ว เป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน
เว็บไซต์ Statista ได้ประมาณการไว้ว่า อีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดกาแฟของกัมพูชา จะเติบโตมากถึงปีละ 9.6% เป็นรองเพียงแค่เมียนมา ที่คาดว่าจะมีการเติบโตของตลาดกาแฟ อยู่ที่ประมาณ 10.5% ต่อปี
ซึ่งแม้แต่ประเทศ ที่นิยมดื่มกาแฟอย่างเวียดนาม หรือไทย ในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็ยังมีการเติบโตอยู่ที่ 7.5% ต่อปี และ 6.2% ต่อปี เท่านั้น
การเติบโตที่รวดเร็วของตลาดกาแฟในกัมพูชานั้น ล้อไปกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ โดยจากการประมาณการของ IMF ระบุไว้ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจของกัมพูชา จะสามารถเติบโตต่อได้ถึงปีละ 7.8%
เศรษฐกิจที่เติบโต ทำให้ประชากรคนชั้นกลาง มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ การดื่มกาแฟก็กลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย ส่งผลให้ตลาดกาแฟของกัมพูชา มีการเติบโตอย่างรวดเร็วไปด้วยนั่นเอง
ความต้องการ ร้านกาแฟในกัมพูชา กำลังเพิ่มขึ้น
เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ชาวกัมพูชาเกินครึ่ง ทำอาชีพเกษตรกรรม แต่ในปัจจุบันนี้ สัดส่วนแรงงานในภาคการเกษตร เหลือไม่ถึง 40% แล้ว
โดยแรงงานภาคการเกษตรที่หายไปเหล่านั้น ได้ถูกย้ายไปอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมของต่างชาติ ซึ่งเข้ามาลงทุน
และการที่มีต่างชาติเข้ามาลงทุน ก็ทำให้งานภาคบริการ อย่างธนาคาร หรืองานออฟฟิศต่าง ๆ มีความต้องการแรงงาน มากขึ้นไปด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ประเทศกัมพูชา เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากความวุ่นวายทางการเมือง ได้อย่างเต็มที่จริง ๆ ก็เพียงแค่ 30 ปีเท่านั้น พื้นที่ในการประชุม หรือเจรจาธุรกิจ จึงไม่ได้มีเหลือมากนัก และไม่เพียงพอต่อความต้องการ
การเกิดขึ้นของร้านกาแฟใหม่ ๆ จึงสามารถเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ ด้วยการเป็นพื้นที่สำหรับพบปะและเจรจาธุรกิจ ระหว่างนักธุรกิจชาวกัมพูชาด้วยกันเอง ไปจนถึงนักธุรกิจต่างชาติ
อีกทั้งร้านกาแฟ ยังมีความต้องการ จากเหล่าพนักงานในออฟฟิศ ที่กำลังผุดขึ้นทั่วเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงพนมเปญ เพราะมนุษย์เงินเดือน ไม่ว่าจะประเทศไหน ก็ต้องการเติมกาเฟอีน เพื่อให้ทำงานได้ในแต่ละวัน ไม่ต่างกัน
ตลาดกาแฟของกัมพูชา เอื้อให้ต่างชาติ เข้าไปแข่งขัน
กาแฟมากกว่า 90% ที่ขายในกัมพูชานั้น เป็นกาแฟที่นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากกัมพูชา แทบไม่เคยผลิตกาแฟได้เกิน 400 ตันต่อปีเลย ซึ่งแน่นอนว่า ไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
การที่กำลังการผลิตกาแฟในประเทศ ไม่เพียงพอต่อความต้องการแบบนี้ กัมพูชาเองจึงต้องนำเข้ากาแฟ จากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม และลาว เป็นจำนวนมาก
ร้านกาแฟท้องถิ่นของกัมพูชา จึงไม่มีความได้เปรียบร้านกาแฟต่างชาติ ในเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ เพราะต้องนำเข้ากาแฟเข้ามาขายเหมือนกัน
อีกทั้งชาวกัมพูชามักจะมองว่า สินค้าต่างประเทศจะมีคุณภาพมากกว่า โดยข้อมูลการสำรวจของ Standard Insights ในปี 2022 ชี้ให้เห็นว่า
แบรนด์ร้านกาแฟที่ชาวกัมพูชาชื่นชอบสุด 3 อันดับแรก เมื่อคิดจากเปอร์เซ็นต์ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ได้แก่
Café Amazon แบรนด์ร้านกาแฟจากไทย อยู่ที่ 42.2%Starbucks แบรนด์ร้านกาแฟจากสหรัฐฯ อยู่ที่ 26.6%Brown Coffee แบรนด์ร้านกาแฟท้องถิ่น อยู่ที่ 20.7%
นอกจากนี้ การบริหารจัดการร้าน ของบริษัทต่างประเทศที่มีคุณภาพกว่า ก็ทำให้ผู้ประกอบการร้านกาแฟท้องถิ่น แข่งขันกับต่างชาติได้ยาก
สรุปแล้ว ตลาดกาแฟในกัมพูชา แม้จะเติบโตเร็ว ตามสภาพเศรษฐกิจ และสังคม ที่กำลังเปลี่ยนไปของกัมพูชา แต่ก็ยังมีช่องว่าง ให้กับแบรนด์กาแฟต่างชาติ เข้าไปลงทุนอยู่มาก
เพราะผู้ประกอบการร้านกาแฟในกัมพูชา ยังไม่สามารถแข่งขันได้มากนัก แถมชาวกัมพูชา ยังนิยมเข้าร้านกาแฟต่างชาติ ที่มีคุณภาพดี แต่ราคาไม่แพงจนเกินไป อย่าง Café Amazon ด้วย
นอกจากนี้ ร้านกาแฟในกัมพูชา ตอนนี้ยังคงกระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองใหญ่ หรือเมืองท่องเที่ยว ถ้าหากเมืองอื่น ๆ พัฒนาตามมาในอนาคต ก็จะกลายเป็นช่องว่าง ให้ร้านกาแฟต่าง ๆ เข้าไปเปิดได้อีก
ก็เป็นที่น่าสนใจว่า ถ้าหลังจากนี้ เศรษฐกิจของกัมพูชา ยังคงเติบโตได้เรื่อย ๆ เราก็คงเห็นแบรนด์ร้านกาแฟ ทั้งจากไทย และประเทศอื่น ๆ กระโดดเข้าไปร่วมแข่งขัน ในตลาดกาแฟกัมพูชา ที่น่าจะเข้มข้นมากขึ้น ในอนาคต..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.