Warrant และ Derivative Warrant คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ?

Warrant และ Derivative Warrant คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ?

4 ธ.ค. 2023
Warrant และ Derivative Warrant คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ? | MONEY LAB
นักลงทุนหลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ Warrant และ Derivative Warrant กันมาบ้าง
โดยทั้ง 2 อย่างนี้ คือตราสารอนุพันธ์ ที่มีมูลค่าอ้างอิงอยู่กับอีกสินทรัพย์หนึ่ง
และแม้ว่าจะมีชื่อที่คล้ายกัน แต่ในรายละเอียดนั้น มีความแตกต่างกันพอสมควร
แล้ว Warrant กับ Derivative Warrant คืออะไร
และแตกต่างกันอย่างไร​ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
Warrant คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น
ส่วน Derivative Warrant หรือ DW เรียกว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์
เริ่มต้นจากจุดประสงค์ของทั้ง 2 ตราสาร
นักลงทุนที่ลงทุนใน Warrant จะมีสิทธิที่จะซื้อหุ้นแม่ในอนาคต
เพราะฉะนั้น จึงบอกได้ว่า วัตถุประสงค์ของ Warrant คือ เพื่อเป็นหนึ่งในการระดมทุนให้กับบริษัทจดทะเบียน
ส่วนนักลงทุนที่ลงทุนใน Derivative Warrant จะมีสิทธิที่จะซื้อ (Call Option) หรือสิทธิที่จะขาย (Put Option) สินทรัพย์อ้างอิงใด ๆ
เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของ Derivative Warrant จึงเป็นไปเพื่อการเก็งกำไร ว่าสินทรัพย์อ้างอิงที่เราสนใจ จะมีมูลค่าขึ้นหรือลงในอนาคต
ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันแบบนี้ ทั้ง 2 ตราสารจึงมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้
สินทรัพย์อ้างอิง
สินทรัพย์อ้างอิงของ Warrant จะเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ที่นักลงทุนสนใจจะซื้อในอนาคต เท่านั้น
ในขณะที่ สินทรัพย์อ้างอิงของ DW จะมีความหลากหลายกว่า ตั้งแต่หุ้นรายตัว เช่น หุ้นไทย, หุ้นต่างประเทศ
ไปจนถึงดัชนี เช่น ดัชนี SET, ดัชนี SET50, ดัชนี SETHD และดัชนีราคากลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจ
รวมถึงดัชนีหุ้นต่างประเทศ เช่น ดัชนี Hang Seng Index, ดัชนี S&P 500 Index และดัชนีดาวโจนส์ เป็นต้น
ผู้ออกตราสาร
Warrant จะออกโดยบริษัทจดทะเบียนนั้น ๆ เท่านั้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือระดมทุนจากนักลงทุน และนำเงินทุนไปใช้ในการขยายกิจการ
ส่วนผู้ออก DW จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ โดยมีเป้าหมายหลักคือ เพิ่มทางเลือกในการสร้างผลตอบแทน และบริหารความเสี่ยงให้กับพอร์ตของนักลงทุน
โดยสินทรัพย์อ้างอิงตัวเดียวกัน เช่น ดัชนี SET50 อาจจะมีการออก DW ดัชนี SET50 โดยโบรกเกอร์หลายแห่งก็ได้
สัญลักษณ์ของตราสาร
Warrant นั้น จะใช้แค่ชื่อของหลักทรัพย์อ้างอิง ตามด้วยลำดับชุดของ Warrant นั้น
เช่น MBK-W2 ที่เป็นใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของ บมจ.เอ็ม บี เค ชุดที่ 2
ในขณะที่สัญลักษณ์ของ DW จะประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลัก
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เราลองมาดูตัวอย่าง DW ของหุ้น PTT ที่ใช้ชื่อ PTT01C2401A โดยคำว่า
PTT หมายถึง ชื่อหลักทรัพย์อ้างอิง01 หมายถึง หมายเลขของโบรกเกอร์ผู้ออก DWC หมายถึง ประเภทของ DW ซึ่ง C คือ Call แต่ถ้าเป็นคำว่า P คือ Put2401 หมายถึง ปีและเดือนที่ DW นั้นจะหมดอายุ ซึ่งกรณีนี้ก็คือ ปี 2024 เดือน 1A หมายถึง รุ่นของ DW นั้น โดยจะเรียงจาก A ไป Zอายุของตราสาร
Warrant จะมีอายุไม่เกิน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ออก
ส่วน DW จะมีอายุการซื้อขายประมาณ 2 เดือน จนถึง 2 ปี
ดังนั้น DW อาจตอบโจทย์นักลงทุนระยะสั้นที่นิยมจับจังหวะการลงทุน
ในขณะที่นักลงทุนระยะยาวอาจชื่นชอบ Warrant มากกว่า
การส่งมอบสินทรัพย์อ้างอิง
สำหรับ Warrant นั้น ถ้านักลงทุนเลือกใช้สิทธิ ก็จะเป็นการชำระเงินสด และนักลงทุนก็จะได้รับหุ้นแม่จริง ๆ
แต่ถ้าเลือกไม่ใช้สิทธิ ก็ปล่อยให้ Warrant นั้นหมดอายุไป
ส่วน DW จะไม่มีการส่งมอบสินทรัพย์กันจริง ๆ แต่จะเป็นการชำระเงินสดส่วนต่าง ระหว่างราคาสินค้าอ้างอิงกับราคาใช้สิทธิ และเกิดเป็นกำไรหรือขาดทุน
ผู้ดูแลสภาพคล่อง
Warrant จะไม่มีผู้ดูแลสภาพคล่อง และไม่ได้มีข้อกำหนดจากตลาดหลักทรัพย์ให้มีผู้ดูแลสภาพคล่องในการทำราคา
ส่วน DW มีผู้บริหารสภาพคล่อง หรือ Market Maker ซึ่งปกติมักจะเป็นโบรกเกอร์ผู้ออก DW ตัวนั้น ๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลราคา และรับซื้อขาย DW ในราคาที่เหมาะสม
เพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ตลอดเวลาทำการ ตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ที่ให้มีผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างน้อย 1 ราย
Warrant และ Derivative Warrant ยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่ต้องศึกษา เช่น ลักษณะและเงื่อนไขเฉพาะตัว, มูลค่า, ราคาใช้สิทธิ รวมถึงอัตราทด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีกำไรหรือขาดทุน
อย่างไรก็ตาม เราก็น่าจะพอเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Warrant กับ Derivative Warrant ได้ในเบื้องต้นแล้ว..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.