นิการากัว ประเทศที่โดน ปานามา แย่งความมั่งคั่ง

นิการากัว ประเทศที่โดน ปานามา แย่งความมั่งคั่ง

23 พ.ย. 2023
นิการากัว ประเทศที่โดน ปานามา แย่งความมั่งคั่ง | MONEY LAB
ประเทศนิการากัว เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาคอเมริกากลาง ด้วยรายได้ต่อหัวเพียงแค่ 79,450 บาทต่อปี หรือ 6,621 บาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าประเทศไทย 3 เท่า
ทำให้ในปัจจุบัน ชาวนิการากัวจำนวนมาก พากันย้ายออกจากประเทศ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีชาวนิการากัวที่ย้ายประเทศถึง 10% ของประชากรทั้งหมดในประเทศเลยทีเดียว
ในขณะที่ประเทศที่อยู่ไม่ไกลกันนักอย่าง ปานามา กลับมีรายได้ต่อหัว มากกว่าถึง 7 เท่า พร้อมกับเป็นประเทศรายได้สูง เพียงแห่งเดียวในภูมิภาคอเมริกากลาง
ด้วยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่สูงถึง 8.6% หลังจากได้สิทธิ์คลองปานามา กลับคืนมาเป็นของตัวเอง เมื่อสิ้นปี 1999
แต่รู้หรือไม่ว่า ในตอนแรก เส้นทางการค้าที่สำคัญของโลกแห่งนี้ ที่มีสินค้าขนส่งผ่านแต่ละปี มากกว่า 9.4 ล้านล้านบาท ควรจะถูกสร้างขึ้นที่ประเทศนิการากัว ไม่ใช่ปานามา
และถ้าหากคุณสงสัย ว่าเพราะอะไร ประเทศนิการากัว จึงพลาดโอกาส ในการสร้างความมั่งคั่งมหาศาลแบบนี้ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
อย่างที่เราทราบกันดีว่า สหรัฐอเมริกา เป็นดินแดนอันแสนกว้างใหญ่ ด้านตะวันออกสุด ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนด้านตะวันตกสุด ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก
เพียงแค่การจะขับรถจากด้านตะวันออกสุด ไปยังด้านตะวันตกสุด ในยุคปัจจุบันที่มีถนนหนทางแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึง 4 วัน
ยิ่งถ้าหากย้อนไปในช่วง 100 กว่าปีก่อน เราก็แทบจะนึกไม่ออกเลยว่า ต้องใช้เวลานานกี่วัน ถึงจะขนส่งสินค้า หรือข่าวสาร ข้ามไปถึงอีกฝั่งหนึ่งได้
แต่ถ้าเป็นการเดินเรือ ทั้งเรือสินค้า รวมไปถึงเรือรบ การจะเดินทางจากคนละฝั่งของสหรัฐอเมริกา ก็จะต้องลงไปอ้อมที่แหลมฮอร์น ประเทศชิลี จุดที่อยู่ด้านใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งต้องใช้ระยะทางถึง 24,000 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางราว 4 ถึง 6 สัปดาห์
ด้วยเหตุนี้เอง โครงการสร้างคลองเชื่อม 2 มหาสมุทร จึงเป็นที่สนใจ ของทางการสหรัฐอเมริกา
เพราะการเดินเรือของสหรัฐอเมริกา ไปยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศ รวมถึงประเทศในทวีปเอเชีย จะได้เร็วยิ่งขึ้น
ระยะทาง จะลดเหลือเพียงแค่ราว 4,500 กิโลเมตร
และเวลาการเดินทาง จะลดเหลือเพียงแค่ราว 1 สัปดาห์
ทำให้ในปี 1901 ทางสหรัฐอเมริกา จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อศึกษาดูว่า เส้นทางไหนที่เหมาะสมสำหรับจะสร้างคลองเชื่อม 2 มหาสมุทร
โดยเส้นทางในใจของทางการสหรัฐอเมริกา ในตอนนั้นมีอยู่ 2 เส้นทาง คือ
ตัดผ่านทางนิการากัวตัดผ่านปานามา ที่ประเทศฝรั่งเศสเคยพยายามจะทำ แต่ไม่สำเร็จ เมื่อปี 1850
ซึ่งผลการศึกษาของคณะกรรมการนั้น ต่างก็ลงความเห็นว่า การตัดคลองผ่านนิการากัว เป็นเส้นทางที่เหมาะสมกว่า
เพราะถึงแม้ประเทศนิการากัว จะกว้างกว่าปานามา แต่ถ้าหากไปดูในแผนที่จริง ๆ แล้ว จะพบว่าพื้นที่ตรงกึ่งกลางของประเทศ มีทะเลสาบนิการากัว ที่ใหญ่จนกินพื้นที่ประมาณ 6% ของประเทศไปแล้ว
ถ้าหากทางสหรัฐอเมริกาจะขุดคลอง ก็เพียงแค่ขยายแม่น้ำ ที่ไหลเข้าทะเลสาบนิการากัว จากทางด้านตะวันออกของประเทศ และขุดพื้นที่อีกฝั่งของทะเลสาบในทางตะวันตกอีกเล็กน้อย ก็จะทะลุออกไปมหาสมุทรแปซิฟิกได้
ต่างจากปานามา ที่แม้จะแคบกว่าก็จริง แต่จะต้องขุดดินล้วน ๆ เพื่อให้กลายเป็นคลอง ซึ่งจะยากกว่ามาก
และนอกจากเหตุผลทางภูมิศาสตร์แล้ว ยังมีเหตุผลทางด้านการเมืองอีกด้วย เพราะประเทศปานามา ณ ตอนนั้น ยังเป็นส่วนหนึ่งของโคลอมเบีย ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของทวีปอเมริกาใต้
การที่สหรัฐอเมริกาจะไปขุดคลองในปานามา และหาประโยชน์จากคลองนั้น เป็นเวลาหลายสิบปี ทางโคลอมเบียก็คงไม่ยอมแน่
ทำให้ในตอนนี้ นิการากัว ก็ดูเหมือนจะถูก “ล็อกมง” ให้กลายเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญของโลกในอนาคตอันใกล้นี้
แต่สิ่งที่ทำให้สถานการณ์นี้เปลี่ยนไป ก็คือ การล็อบบี
ความจริงแล้ว โครงการปานามา เคยถูกเริ่มสร้างไปแล้ว แต่ก็ล้มเหลว
ซึ่งคุณ Philippe Bunau-Varilla วิศวกรชาวฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยมีส่วนร่วมในการสร้างคลองปานามาในครั้งนั้น และยังเป็นนักลงทุนที่เจ็บตัวกับการลงทุนในโครงการนี้ด้วย
คุณ Philippe จึงได้จ้างคุณ William Nelson Cromwell ทนายความชาวอเมริกัน ให้ทำการล็อบบีสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา ให้เลือกตัดคลองผ่านปานามาแทนที่จะเป็นนิการากัว
เพื่อที่เขาจะได้เงินทุนที่เสียไปคืนกลับมาบ้าง จากการลงทุนขุดคลองปานามา ที่ล้มเหลวเมื่อครั้งก่อนหน้า
วิธีล็อบบีของทั้ง 2 คน ก็คือ การส่งจดหมายไปยังสมาชิกสภาคองเกรสทุกคน ซึ่งจดหมายเหล่านั้น ก็แปะแสตมป์ที่มีภาพภูเขาไฟโมโมตอมโบ ประจำนิการากัว ที่กำลังคุกรุ่นอยู่ เพื่อบอกเป็นนัยว่า สภาพแวดล้อมในนิการากัวไม่ได้ปลอดภัยนัก
ประกอบกับว่าเวลานั้น เพิ่งมีข่าวการระเบิดของภูเขาไฟบนเกาะมาร์ตีนิก ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 30,000 คนด้วย
สุดท้ายแล้วทางสภาคองเกรส จึงเปลี่ยนแผนจากนิการากัว และโหวตให้ขุดคลองผ่านทางปานามาแทน ในที่สุด
แล้วประเทศนิการากัว เป็นอย่างไรบ้าง หลังจากนั้น ?
เมื่อสร้างคลองปานามา จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว สหรัฐอเมริกา ก็เตรียมการที่จะสร้างคลองนิการากัวต่อเช่นกัน
แต่ด้วยวิกฤติเศรษฐกิจ Great Depression ในปี 1930 ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่มีเงินทุนมากพอ ที่จะสร้างเมกะโปรเจกต์ที่ใหญ่ขนาดนั้นอีก
แม้ว่าโครงการคลองนิการากัวจะไม่ถูกสร้างขึ้น แต่นิการากัวก็ถูกแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาอยู่เรื่อย ๆ ไม่ต่างจากประเทศลาตินอเมริกาอื่น ๆ จนทำให้การเมืองไม่มีเสถียรภาพ
เมื่อการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ก็ยากที่การบริหารบ้านเมือง จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน จนนำมาซึ่งความเดือดร้อนของผู้คน และประเทศไม่สามารถพัฒนาต่อได้
เมื่อมีผู้คนในนิการากัวเดือดร้อนมากเข้า ก็ระเบิดออกมาเป็นสงครามกลางเมือง และสร้างความเสียหายให้กับประเทศ
ซ้ำร้ายในปี 1972 ยังเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ จนบ้านเรือนเสียหาย
ประเทศเล็ก ๆ ซึ่งไม่มีเงินทุนแบบนิการากัว จึงต้องกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อมาซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายไป จนต้องติดหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ประเทศนิการากัว ยังได้วนเวียนอยู่กับนโยบายประชานิยม และการบริหารประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพ จนประเทศไม่สามารถพัฒนาได้อย่างแท้จริง
แม้ในตอนหลัง โครงการคลองนิการากัว จะถูกรื้อฟื้นอีกครั้ง ในปี 2013 โดยมหาเศรษฐีชาวจีน ที่ชื่อว่าคุณ Wang Jing ด้วยเงินทุนกว่า 1.7 ล้านล้านบาท และสัญญาว่าจะสร้างให้เสร็จภายใน 5 ปี
แต่ด้วยการต่อต้านจากประชาชน ที่กังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงตัวของคุณ Wang Jing เอง ก็ประสบปัญหาทางการเงิน จนไม่มีเงินทุนเพียงพอ โครงการนี้จึงต้องถูกพับไปในที่สุด
ทำให้ปัจจุบันนี้ ประเทศนิการากัว ก็ยังคงเป็นประเทศยากจน ที่ไม่มีใครอยากอาศัยอยู่ต่อไป
จากตรงนี้เอง ก็เป็นที่น่าคิดเหมือนกันว่า ถ้าหากในวันนั้น คลองนิการากัว เกิดขึ้นจริง
ประเทศแห่งนี้ จะสามารถตักตวงรายได้ และเปลี่ยนโอกาสนี้ให้ตัวเองกลายเป็นประเทศรายได้สูง เหมือนกับที่ปานามาเป็นในวันนี้ ได้หรือไม่..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.