เรื่องภาษีที่ควรรู้ จะได้ไม่โดน เรียกเก็บย้อนหลัง

เรื่องภาษีที่ควรรู้ จะได้ไม่โดน เรียกเก็บย้อนหลัง

17 พ.ย. 2023
เรื่องภาษีที่ควรรู้ จะได้ไม่โดน เรียกเก็บย้อนหลัง | MONEY LAB
หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากในโลกโซเชียลตอนนี้ คงหนีไม่พ้น เรื่องที่มีคนถูกเก็บภาษีย้อนหลัง 2.6 ล้านบาท ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะอ้างว่า ได้จ่ายภาษีปกติทุกปี
เราอาจจะเคยได้เห็นเรื่องทำนองนี้บ่อย ๆ เช่น เป็นพนักงานฟรีแลนซ์ หรือขายของออนไลน์ แล้วไม่ได้ยื่นภาษี หรือยื่นภาษีแล้ว แต่ยื่นผิดประเภท
ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ ก็อาจทำให้เราโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้
เรื่อง “ภาษีย้อนหลัง” นี้ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรากันมาก ๆ แต่หลายคนอาจจะยังไม่เคลียร์ว่า เราควรทำอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
การเก็บภาษีย้อนหลัง (Retroactive Tax) เป็นการตรวจสอบการยื่นภาษีย้อนหลัง เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางภาษีอากร
โดยมี 3 หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมสรรพากร, กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต
ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนธรรมดาอย่างเราโดยตรงก็คือ กรมสรรพากร ที่ดูแลเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจ
ทั้งนี้ ต้องบอกว่า ที่คนส่วนใหญ่มักโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง จะเกิดจาก 2 สาเหตุสำคัญ นั่นคือ
ยังไม่จ่ายภาษี ซึ่งอาจเกิดจากความไม่ตั้งใจ หรือจงใจหลบเลี่ยงภาษีจ่ายภาษีแล้ว แต่ยังจ่ายไม่ครบ หรือไม่ถูกต้อง
โดยกรมสรรพากรจะมีวิธีการตรวจสอบ พร้อมทั้งดำเนินการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ซึ่งจะมีบทลงโทษลดหลั่นกันไปตามความผิด ซึ่งจะมีบทลงโทษตั้งแต่
ยื่นแบบภาษีทันกำหนด แต่เสียภาษีไม่ครบ
เสียเบี้ยปรับ 0.5-1 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่ายเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบ จนถึงวันที่จ่ายครบ
ไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด
มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาทเสียเบี้ยปรับ 1-2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่ายเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบ จนถึงวันที่จ่ายครบ
เจตนาเลี่ยงภาษี ไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด
มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 5,000 บาท จำคุกสูงสุด 6 เดือนเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่ายเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบ จนถึงวันที่จ่ายครบ
หนีภาษี
มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปีเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่ายเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบ จนถึงวันที่จ่ายครบ
แล้วเราจะสามารถป้องกัน การโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง อย่างไรได้บ้าง ?
ยื่นภาษีทุกปี
โดยให้ยื่นภาษี ภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของทุกปี
และที่สำคัญ สำหรับคนที่คิดว่า ตัวเองมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ จึงไม่จำเป็นต้องยื่นภาษี
ต้องบอกว่าจริง ๆ แล้ว ไม่ว่าเราจะมีรายได้เท่าไรก็ตาม กรมสรรพากรระบุไว้ว่า ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายได้เช่นกัน
เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย เราก็ควรยื่นภาษีทุกปี
ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารให้ครบถ้วน ก่อนยื่นภาษี
ไม่ว่าจะเป็น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ 50 ทวิ ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงข้อมูลรายได้ของเราที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยมนุษย์เงินเดือนสามารถขอเอกสารดังกล่าว ได้ที่บริษัทนายจ้างของเรา
นอกจากนี้ เราควรตรวจสอบสิทธิ์ลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น เงินบริจาค การออมและการลงทุน รวมทั้งเบี้ยประกัน เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิ์ได้ครบถ้วน ซึ่งจะเป็นอีกทางที่ช่วยให้เราประหยัดภาษี
ติดตามข้อมูลข่าวสาร กฎระเบียบด้านภาษีอย่างสม่ำเสมอ
ในแต่ละปีมักจะมีกฎหมาย หรือเงื่อนไขใหม่ ๆ ในด้านภาษีออกมาเสมอ ซึ่งบางอย่างถือว่าเป็นประโยชน์ต่อเรา สำหรับการนำไปลดหย่อนภาษี
ดังนั้น ในฐานะผู้ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายได้ทุกปี เราควรติดตามข้อมูลข่าวสาร และกฎระเบียบด้านภาษีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
หรือหากเรายังไม่เข้าใจกฎระเบียบด้านภาษีที่ประกาศออกมา เราก็ควรติดต่อสอบถามไปยังกรมสรรพากรโดยตรง
ยื่นแบบภาษีให้ถูกประเภท
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ทางภาษีมีการแบ่งเงินได้ออกเป็นทั้งหมด 8 ประเภท โดยอ้างอิงประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) ถึง (8) ได้แก่
ม.40 (1) คือ เงินเดือน ผลประโยชน์จากสัญญาจ้างแรงงานม.40 (2) คือ เงินได้จากการรับจ้าง ค่านายหน้า ค่าบรรยาย ค่าวิทยากรม.40 (3) คือ ค่าลิขสิทธิ์ กู๊ดวิลล์ม.40 (4) คือ เงินได้จากการลงทุน กำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์บางประเภทม.40 (5) คือ เงินได้จากการให้เช่า ทั้งการเช่าอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ม.40 (6) คือ วิชาชีพทำงานอิสระ ประกอบวิชาชีพเฉพาะที่กฎหมายกำหนดม.40 (7) คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือม.40 (8) เงินได้จากการทำธุรกิจ หรือเงินได้อื่น ๆ นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7)
ซึ่งตามกฎหมายแล้ว เงินได้แต่ละประเภทจะหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เท่ากัน จึงเสียภาษีไม่เท่ากัน ดังนั้นเราก็ต้องศึกษาให้ดีว่า เงินที่เราได้มาอยู่ในประเภทไหน
เพราะถ้าเรายื่นแบบภาษีเงินได้ผิดประเภท เราก็อาจจะโดนเรียกเก็บทั้งภาษีย้อนหลัง และค่าปรับ
สุดท้ายแล้ว ต้องบอกว่าเรื่องภาษี ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สำคัญ ที่เราทุกคนควรใส่ใจ
ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกัน ไม่ให้เราต้องถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง นั่นเอง..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.