แบงก์ชาติวิเคราะห์ 8 สาเหตุหลัก ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย

แบงก์ชาติวิเคราะห์ 8 สาเหตุหลัก ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย

3 พ.ย. 2023
แบงก์ชาติวิเคราะห์ 8 สาเหตุหลัก ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย | MONEY LAB
อย่างที่เรารู้กันดีว่า หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบัน ใหญ่เกือบจะเท่ากับขนาดเศรษฐกิจของประเทศแล้ว
โดยปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 86.4%
ทั้งที่เมื่อ 20 ปีก่อน สัดส่วนนี้ มีอยู่แค่ 50% เท่านั้นเอง
แล้วปัจจัยใดที่ทำให้หนี้ครัวเรือนไทย เพิ่มขึ้นมาสูงมาก ได้แบบนี้ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้สรุปปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในภาพรวม ออกมาได้เป็น 8 ข้อ
1.คนไทยเป็นหนี้เร็ว
ในกลุ่มคนวัยเริ่มทำงาน คือช่วงอายุระหว่าง 25-29 ปี พบว่า เป็นหนี้กันแล้วถึง 58%
โดยมากกว่า 25% ได้กลายเป็นหนี้เสีย
ในขณะที่ หนี้ส่วนใหญ่นั้น มักจะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ และหนี้ส่วนบุคคล
2.คนไทยเป็นหนี้เกินตัว
เกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลนั้น พบว่า มีหนี้มากกว่า 4 บัญชีต่อคน
โดยมีมูลค่าหนี้รวมต่อคน สูงถึง 10-25 เท่าของรายได้ต่อเดือน
ในขณะที่ หากเราไปดูที่เกณฑ์ของต่างประเทศจะพบว่า ไม่ควรมีหนี้เกินกว่า 5-12 เท่าของรายได้ต่อเดือน เพราะจะส่งผลต่อปัญหาการชำระหนี้ และการใช้ชีวิตได้
เมื่อมีหนี้มากเกินไป และหากหนี้สินส่วนใหญ่เกิดอยู่ในรูปของหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล ที่มีดอกเบี้ยสูง และมีระยะเวลาในการชำระคืนสั้นแล้ว
ในแต่ละเดือน ลูกหนี้จะต้องผ่อนชำระเป็นเงินจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงที่ในอนาคต ลูกหนี้จะจ่ายไม่ไหว และเกิดเป็นปัญหาหนี้เสียขึ้นได้
3.คนไทยเป็นหนี้ เพราะไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
ทาง ธปท. พบว่า 80% ของปัญหาในขั้นตอนการเสนอขายสินเชื่อของสถาบันการเงิน ก็คือ ลูกหนี้ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน และไม่ถูกต้อง
ทำให้ไม่เข้าใจรายละเอียดของสินเชื่อ เช่น ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย
แถมหลายครั้ง ลูกหนี้ยังได้รับข้อมูลเพียงแค่ด้านเดียว ทำให้ลืมมองเรื่องความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
ซึ่งปัญหานี้ ได้ส่งผลให้คนไทยต้องติดอยู่ในวังวนของการเป็นหนี้ โดยไม่จำเป็น
4.คนไทยมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินน้อย จนมีโอกาสก่อหนี้เพิ่มง่าย
จากข้อมูลผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี 2563 พบว่า 62% ของภาคครัวเรือนไทย มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินน้อยเกินไป
ถ้าเกิดมีเหตุการณ์ที่ทำให้รายได้ลดลง แม้เพียงแค่ 20% ก็จะทำให้มีภาคครัวเรือนเกินครึ่งหนึ่ง ไม่มีเงินพอจะมาจ่ายหนี้คืน
ซ้ำยังอาจจะต้องไปกู้หนี้ก้อนใหม่มา จากทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อเอามาใช้จ่ายดำรงชีวิตด้วย
5.คนไทยเป็นหนี้นาน
ข้อมูลจากฐานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ NCB เดือนสิงหาคม ปี 2565 และข้อมูลจำนวนประชากรจากการทะเบียนของกระทรวงมหาดไทย ปี 2564 พบว่า
คนที่มีอายุเกิน 60 ปี หรือวัยเกษียณ กว่า 25% ยังมีปัญหาเรื่องหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระอยู่ โดยพบว่าแต่ละคนมีหนี้สินเฉลี่ยอยู่ที่ 415,000 บาท
โดยหนี้ส่วนใหญ่ จะอยู่ในรูปของหนี้ในภาคการเกษตร
นอกจากนี้ ข้อมูลยังบอกอีกว่า กว่า 40% ของลูกหนี้ ที่ติดหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล เลือกที่จะผ่อนชำระแบบขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ ทำให้สามารถปิดหนี้ได้ช้า
6.คนไทยเป็นหนี้เสีย
ข้อมูลจาก NCB พบว่า ประเทศไทยมีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียสูงถึง 10 ล้านบัญชี
ซึ่ง 4.5 ล้านบัญชี เพิ่งกลายมาเป็นหนี้เสียในช่วงการเกิดโรคระบาดในไม่กี่ปีที่ผ่านมา
โดยสัดส่วนบัญชีหนี้เสีย จะแบ่งออกได้ดังนี้
-บัญชีหนี้เสียจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คิดเป็นสัดส่วน 70%
-ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 20%
-ธนาคารพาณิชย์ 10%
7.คนไทยเป็นหนี้ ไม่จบไม่สิ้น
จากข้อมูลของ NCB และกรมบังคับคดี พบว่า มีเกือบ 20% ของบัญชีหนี้เสีย ที่ถูกยื่นฟ้อง
โดย 1 ใน 3 ของลูกหนี้ที่ถูกยื่นฟ้อง แม้ว่าจะโดนศาลสั่งยึดทรัพย์ และนำออกจำหน่ายไปแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอที่จะปิดหนี้ได้
ทั้งนี้ ธปท. ยังพบอีกว่า ลูกหนี้ส่วนใหญ่ ไม่มีตัวช่วยในการหาทางออกจากการเป็นหนี้ เช่น ไม่สามารถไกล่เกลี่ยหนี้กับเจ้าหนี้ได้ ทั้งก่อนโดนฟ้องร้อง หลังโดนฟ้องร้อง และหลังจากมีคำพิพากษา
เมื่อลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ก็ไม่มีช่องทางให้ลูกหนี้ทั่วไปสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูหรือล้มละลายได้
8.คนไทยเป็นหนี้นอกระบบ
ข้อมูลสำรวจระดับครัวเรือน จากการสำรวจของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม พบว่า
กว่า 42% ของ 4,600 ครัวเรือนทั่วประเทศ ที่เข้ามาขอรับความช่วยเหลือ มีปัญหาหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท
โดยสาเหตุที่ทำให้คนไทยเลือกเป็นหนี้นอกระบบ ก็คือ
-ไม่สามารถกู้หนี้ในระบบได้ เพราะมีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้เจ้าหนี้ไม่เห็นข้อมูลรายได้ จึงไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ
-เลือกไปขอกู้นอกระบบเอง เพราะสะดวกและได้เงินเร็วกว่า แม้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง
-ขอสินเชื่อในระบบจนเต็มแล้ว ทำให้ต้องไปขอกู้จากนอกระบบเพิ่ม
ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น หากไม่เร่งแก้ไข ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้
เพราะเมื่อมีหนี้มาก เงินส่วนใหญ่ที่ได้มา แทนที่จะนำไปใช้จ่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต กลับต้องนำไปจ่ายคืนหนี้
นอกจากนี้ การที่มีหนี้ครัวเรือนที่มากเกินไปแบบนี้ ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศได้
หากจัดการได้ไม่ดี และมีลูกหนี้จำนวนมากเกิดพร้อมใจกันเบี้ยวหนี้ จนกลายเป็นหนี้เสีย ก็จะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของเจ้าหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่คือธนาคาร
และทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมาได้..
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.