คนรวยมีสิทธิ์ไหม ? 3 เกณฑ์ใหม่ เงินดิจิทัล 10,000 บาท

คนรวยมีสิทธิ์ไหม ? 3 เกณฑ์ใหม่ เงินดิจิทัล 10,000 บาท

26 ต.ค. 2023
คนรวยมีสิทธิ์ไหม ? 3 เกณฑ์ใหม่ เงินดิจิทัล 10,000 บาท | MONEY LAB 
ข่าวใหญ่ในแวดวงเศรษฐกิจ และการเมืองในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่อง การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท 
ที่ตอนนี้กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง หลังจากที่มีการยื่นข้อเสนอให้ตัดสิทธิ์คนรวย ออกจากรายชื่อผู้มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
ปัญหาก็คือ ยังไม่มีนิยามของคนรวยที่ชัดเจนว่า คนรวยจะวัดจากอะไร ? หรือรวยแค่ไหน ถึงจะไม่ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
โดยตอนนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาตัวเลือก 3 ข้อ เพื่อคัดกรองผู้มีสิทธิ์รับเงิน คือ
1. ตัดคนที่มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท หรือเงินฝาก 100,000 บาทขึ้นไป จะเหลือผู้ที่ได้รับสิทธิ์ 43 ล้านคน
2. ตัดคนที่มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท หรือเงินฝาก 500,000 บาทขึ้นไป จะเหลือผู้ได้รับสิทธิ์ 49 ล้านคน
3. ให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง ในกลุ่มผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีอยู่ราว 16 ล้านคน
สิ่งที่คนส่วนใหญ่ตั้งคำถาม หลังจากที่เห็นเกณฑ์รายได้ และเงินฝากที่กล่าวไปข้างต้น ก็คือ คนที่มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท หรือมีเงินฝากเกิน 100,000 บาท เป็นคนรวยจริงหรือไม่ 
เพราะถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว หากเรามีเงินฝาก 100,000 บาท เงินดิจิทัล 10,000 บาทที่เราจะได้ ก็มากถึง 10% ของเงินในบัญชีเราเลยทีเดียว
แต่วันนี้ MONEY LAB ไม่ได้มาตั้งคำถามว่า คนที่มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท เป็นคนรวยหรือไม่ 
แต่จะมาอธิบายให้ฟังว่า ถ้ารัฐบาลเลือกใช้เกณฑ์ 2 ข้อแรก ในการกำหนดนิยามของคนรวยจริง ๆ ก็จะยังมีคนรวยบางกลุ่มที่ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้อยู่ดี
แล้วคนรวยแบบไหนบ้าง ที่จะยังมีสิทธิ์อยู่ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
เรื่องแรก ถ้าจะวัดจากฐานเงินเดือน ก็จะพบว่า ยังมีคนบางประเภท ที่มีฐานเงินเดือนไม่เกิน 25,000 บาท แต่อาจจะเข้าข่ายเป็นคนรวยได้ ยกตัวอย่างเช่น
เจ้าของกิจการที่ตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง ไม่เกิน 25,000 บาท 
เป็นเรื่องปกติที่เจ้าของกิจการจะตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง แยกออกมาต่างหากจากรายได้และกำไรของบริษัท
ซึ่งถ้ากิจการมีรายได้ดี มีกำไรสะสมอยู่ในบริษัทจำนวนมาก เจ้าของกิจการคนนี้ ก็นับเป็นหนึ่งในคนรวย ที่ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัลนี้เช่นกัน
ในขณะที่บางอาชีพ ที่อาจมีฐานเงินเดือนไม่ถึง 25,000 บาท แต่เมื่อรวมรายได้ทั้งปีแล้วมากกว่า 300,000 บาท ก็น่าจะโดนตัดสิทธิ์เหมือนเดิม
ยกตัวอย่างเช่น พนักงานขายที่ได้รับค่าคอมมิชชันสูง, พนังงานที่ได้โบนัสเยอะ, ฟรีแลนซ์ รวมถึงคนทำอาชีพค้าขาย
เรื่องต่อมา เงินเดือนอาจไม่ใช่มาตรวัดความมั่งคั่งที่ดีนัก เพราะเงินเดือนไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่เป็นเพียงกระแสเงินสดที่เราได้รับมาเท่านั้น
แต่เราสามารถวัดความมั่งคั่งของคนด้วยการหามูลค่า “ทรัพย์สินสุทธิ”
ซึ่งคิดจากการหามูลค่าทรัพย์สินที่เราถือครองรวมกัน ลบด้วย มูลค่าหนี้สินทั้งหมดที่เรามี
ขณะที่ “เงินฝาก” ในธนาคารของเรา ถือว่าเป็นหนึ่งในทรัพย์สิน ที่จะถูกนับรวมเป็นความมั่งคั่งของเรา
แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีทรัพย์สินอื่น ๆ ที่คนรวยชอบถือครอง และยังเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปตามกาลเวลา ไม่เหมือนเงินฝาก ที่นับวันจะยิ่งเสื่อมค่าลงเพราะเงินเฟ้อ
เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน หุ้น พันธบัตร หรือของสะสมอื่น ๆ 
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็น่าจะพอนึกหน้าตาของคนรวยที่ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ได้อยู่ 2 ประเภทหลัก คือ
1. เจ้าของกิจการที่จ่ายเงินเดือนให้ตัวเองไม่ถึง 25,000 บาท
2. คนรวยที่สะสมความมั่งคั่งไว้ในสินทรัพย์ประเภทอื่น
ดังนั้นถ้าเราย้อนกลับไปดู 3 ตัวเลือกของรัฐบาล การคัดกรองคนรวย ด้วยเกณฑ์ข้อ 1 และ 2 ก็อาจจะยังมีคำถามอยู่
แต่การตัดสินใจแจกเงินให้เฉพาะผู้ถือบัตรคนจน ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ตรงจุดมากกว่า คือ เน้นช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางจริง ๆ และประหยัดงบประมาณไปได้มากที่สุด..
Reference
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.