กรณีศึกษา ทางยกระดับดอนเมือง เก็บค่าทางด่วน 100 บาท กำไร 42 บาท

กรณีศึกษา ทางยกระดับดอนเมือง เก็บค่าทางด่วน 100 บาท กำไร 42 บาท

20 ต.ค. 2023
กรณีศึกษา ทางยกระดับดอนเมือง เก็บค่าทางด่วน 100 บาท กำไร 42 บาท | MONEY LAB
รู้หรือไม่ว่า อัตรากำไรสุทธิ ของบริษัทในตลาดหุ้นไทย เฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 6%
แต่มีอยู่ธุรกิจหนึ่ง ที่มีอัตรากำไรสุทธิ 42% หรือพูดง่าย ๆ คือ ทุกรายได้ 100 บาท บริษัทจะมีกำไรมากถึง 42 บาท
หรือมากเป็น 7 เท่า ของบริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทย
ธุรกิจนี้มีชื่อว่า บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT
แล้วบริษัทนี้มีความน่าสนใจอย่างไร ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอน ให้เข้าใจ
ในปี 2530 รัฐบาล ณ ขณะนั้น มีนโยบายเชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมลงทุนในโครงการสัมปทานทางหลวง เพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนถนนวิภาวดีรังสิต
ถนนนี้ถือเป็นเส้นทางหลัก ที่ใช้ในการระบายการจราจรเข้า-ออก จากกรุงเทพฯ สู่ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเป็นเส้นทางสำคัญไปสู่ท่าอากาศยานดอนเมือง
ซึ่งผู้ที่ได้รับสัมปทานในการก่อสร้างและบริการทางยกระดับดอนเมือง ก็คือ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง นั่นเอง
โดยบริษัทได้ให้บริการทางยกระดับดอนเมืองภายใต้สัญญาสัมปทาน ในส่วนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดีรังสิต ตอนดินแดง-ดอนเมือง โดยมีระยะทางสัมปทานทั้งสิ้น ประมาณ 21 กิโลเมตร ซึ่งแบ่งเป็น
-ช่วงดินแดง-ดอนเมือง ระยะทางประมาณ 15.4 กิโลเมตร เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2537
-ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทางประมาณ 5.6 กิโลเมตร เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2541
โดยรายได้หลักของบริษัท จะมาจากการเก็บค่าผ่านทาง ดังนั้นปัจจัยหลัก ๆ ที่มีผลต่อรายได้ของบริษัทก็คือ
-ความต้องการใช้บริการบนทางยกระดับ
โดยระยะหลังมานี้ สถานศึกษา, แหล่งงาน และที่อยู่อาศัย ก็เริ่มกระจายออกไปทางดอนเมืองถึงรังสิต มากขึ้น
-การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ทั้งการเดินทางออกต่างจังหวัด ด้วยรถยนต์ และการเดินทางด้วยเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง ที่มากขึ้น
ทั้ง 2 ปัจจัยก็จะส่งผลให้ความต้องการใช้ทางยกระดับนี้ มีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย
สำหรับปริมาณจราจร ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566
-ช่วงดินแดง-ดอนเมือง เฉลี่ย 131,853 คันต่อวัน
-ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานแห่งชาติ เฉลี่ย 77,969 คันต่อวัน
ในขณะที่ กลุ่มรถยนต์ที่มาใช้งานบนทางยกระดับดอนเมืองนั้น ประมาณ 98% เป็นรถยนต์ 4 ล้อ
ขณะที่อีก 2% เป็นรถยนต์มากกว่า 4 ล้อ
แล้วผลประกอบการของบริษัทเป็นอย่างไร ?
ปี 2564
รายได้ 1,212 ล้านบาท
กำไร 404 ล้านบาท
ปี 2565
รายได้ 1,846 ล้านบาท
กำไร 781 ล้านบาท
6 เดือนแรก ปี 2566
รายได้ 1,143 ล้านบาท
กำไร 486 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ผลประกอบการของบริษัทกำลังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหลักก็น่าจะมาจากการที่สถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย และความเป็นเมืองขยายตัวกว้างขึ้น
ซึ่งถ้าเรานำผลประกอบการล่าสุดมาคิดเป็นสัดส่วนแล้ว ก็จะเท่ากับว่า ทุก ๆ รายได้ 100 บาท ของ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง จะมีกำไรมากถึง 42 บาท..
References
-แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2565, บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง
-https://www.set.or.th/th/about/setsource/news-release/article/229-report-q1
© 2024 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.