ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม ก่อนกู้ร่วมซื้อบ้าน

ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม ก่อนกู้ร่วมซื้อบ้าน

17 ต.ค. 2023
ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม ก่อนกู้ร่วมซื้อบ้าน | MONEY LAB
หลาย ๆ คนที่มีแผนซื้อบ้าน อาจจะประสบกับปัญหา ราคาบ้านสูงเกินกว่าที่เราจะซื้อได้
ซึ่งหนึ่งในทางออกสำหรับปัญหานี้ก็คือ การหาคนมากู้ร่วม
อย่างไรก็ตาม การซื้อบ้านแบบกู้ร่วมนั้น ก็มีปัจจัยสำคัญที่เราควรคำนึงถึงด้วย
แล้วปัจจัยดังกล่าวมีอะไรบ้าง ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
การกู้ร่วม เป็นการทำสัญญากู้สินเชื่อก้อนเดียวร่วมกับบุคคลอื่น โดยบุคคลนั้นอาจจะเป็นสามีภรรยา หรือญาติพี่น้อง เป็นต้น เพื่อจะได้ขออนุมัติสินเชื่อ ให้ได้วงเงินสูงขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้าน ก็มีบางสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน ได้แก่
-การผิดใจกันระหว่างสัญญา
หนึ่งในปัญหาสำคัญของการกู้ร่วม คือ การผิดใจกันระหว่างผู้กู้ร่วม โดยที่ยังมีภาระหนี้ที่ต้องชำระอยู่
กรณีของสามีภรรยา เมื่อผิดใจกัน จนคนใดคนหนึ่งเปลี่ยนใจกลางคัน ไม่อยากรับผิดชอบหนี้ร่วมกันแล้ว
ก็ต้องตกลงกันให้ได้ว่า ใครจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังนั้น และอีกฝ่ายจะต้องยินยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้
เพราะหากคนใดคนหนึ่งไม่ยินยอม ก็ไม่สามารถถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วมได้
แต่ถ้ามีการพูดคุยกันจนยินยอมแล้ว ธนาคารก็จะพิจารณาว่าผู้กู้ที่เหลือมีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้ต่อหรือไม่
ถ้ามีความสามารถ ธนาคารก็อาจจะให้แก้ปัญหาด้วยการรีไฟแนนซ์บ้าน จากการกู้ร่วมไปเป็นการกู้เดี่ยว
หรือถ้าหากไม่มีความสามารถที่จะผ่อนชำระต่อไปได้ ก็ต้องขายบ้านที่กู้ร่วมกันมา
-การกู้ร่วมทำให้การกู้ครั้งต่อไปยากขึ้น
กรณีที่พี่น้องร่วมกันกู้ซื้อบ้าน และเมื่อเวลาผ่านไป ก็แยกย้ายกันไปมีครอบครัว และต้องการจะกู้ซื้อบ้านอีกหลังเป็นของครอบครัวตัวเอง
แต่ถ้าหนี้ก้อนเดิมที่เกิดจากการกู้ร่วม ยังผ่อนชำระไม่หมด ธนาคารก็จะพิจารณาให้สินเชื่อก้อนใหม่ได้ยากขึ้น
ดังนั้น ก่อนกู้ซื้อบ้านร่วมกับใครต้องคิดให้ถี่ถ้วน วางแผนอนาคตให้ดี ว่าคนที่กู้ร่วมมีแผนที่จะกู้ซื้อบ้านหรือสินทรัพย์อื่น ๆ ของตัวเองเพิ่มเติมในอนาคตหรือไม่
-สิทธิลดหย่อนภาษี
สิทธิลดหย่อนภาษีของการกู้ซื้อบ้าน จะลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท อย่างไรก็ตาม กรณีถ้ามีการกู้ร่วมและผู้กู้ร่วมต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีทั้งหมด
สิทธิดังกล่าว จะถูกหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ร่วม โดยที่ไม่สามารถแบ่งสัดส่วนเองได้ตามใจชอบ ดังนั้น ถ้ามีผู้กู้ร่วม 2 คน ก็จะสามารถใช้สิทธิในการลดหย่อนได้สูงสุดคนละ 50,000 บาท
ถึงแม้ว่าคนใดคนหนึ่งจะไม่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ก็ไม่สามารถโอนสิทธิไปให้อีกคนใช้แทนได้
โดยสรุปแล้ว ก่อนที่เราจะกู้ร่วมกับใครสักคน สิ่งที่เราควรพิจารณา ควรจะมีตั้งแต่ปัจจัยด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากความสัมพันธ์ของเรากับคนที่กู้ร่วมด้วยเปลี่ยนไป แผนการกู้ซื้อสิ่งอื่น ๆ ของเราในอนาคต ไปจนถึงสิทธิลดหย่อนภาษี ที่จะได้ลดน้อยลง
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ว่าการกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านนั้น เราสามารถเลือกให้กรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของบ้าน เป็นของบุคคลเดียวก็ได้ และทำให้ผู้กู้ร่วมอีกคนไม่มีสิทธิ์ในสินทรัพย์นั้น
แต่ถ้าต้องการให้กรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของบ้าน เป็นของผู้กู้ร่วมทุกคน เวลาต้องการจะขายหรือโอนบ้าน ก็จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้กู้ร่วมทุกคนเช่นกัน..
© 2023 MONEY LAB. All rights reserved. Privacy Policy.